ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าปรากฏการณ์ Aphelion ไม่มีผลต่ออุณหภูมิของโลกหรือสุขภาพของมนุษย์

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 4 สิงหาคม 2022 เวลา 07:30
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คำกล่าวอ้างระบุว่าเหตุการณ์ทางจักรวาลวิทยาที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์อะฟิลีอัน (Aphelion)” จะทำให้อุณหภูมิโลกเย็นลงตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 จนถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2565 จากระยะห่างระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ได้ถูกแชร์ในโพสต์ออนไลน์ทางเฟซบุ๊ก โดยโพสต์ดังกล่าวระบุด้วยว่าปรากฏการณ์นี้จะส่งผลให้ผู้คนล้มป่วย อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์อธิบายกับ AFP ว่าอะฟิลีอันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกปี และไม่มีผลกระทบต่ออุณหภูมิของโลกหรือสุขภาพของมนุษย์

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กในประเทศไนจีเรีย เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565

คำบรรยายภาษาอังกฤษในโพสต์ดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยว่า “พวกเขาเรียกมันว่าปรากฏการณ์ Aphelion ถ้าพวกเราหลายคนสัมผัสถึงสภาพอากาศที่หนาวได้ เรื่องนี้เริ่มขึ้นในเดือนที่แล้วและจะมีผลถึงวันที่ 22 สิงหาคม”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

ปรากฏการณ์อะฟิลีอัน (Aphelion) เกิดขึ้นเมื่อโลกอยู่ในจุดที่ห่างจากดวงอาทิตย์ที่สุด ราว 152 ล้านกิโลเมตร โดยทั่วไปแล้ว ระยะห่างระหว่างโลกและดวงอาทิตย์จะอยู่ที่ประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร

โพสต์ดังกล่าวระบุว่าปรากฏการณ์ Aphelion เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนจะได้สัมผัสกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นมากกว่าปกติ และความผันผวนดังกล่าว “อาจจะ” ทำให้มีอาการป่วยจากโรคหวัดเพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าว

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กในประเทศไทยที่นี่ นี่และนี่

นอกจากนี้คำกล่าวอ้างเดียวกันถูกแชร์ในภาษาอังกฤษที่ประเทศเคนยา และในภาษาสเปนและโปรตุเกส

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

ปรากฏการณ์นี้ไม่มีผลกระทบต่ออุณหภูมิ

นักดาราศาสตร์ Genevieve Soucail และ Andrea Sánchez ซึ่งให้สัมภาษณ์กับนักข่าวของ AFP ในประเทศอุรุกวัย กล่าวว่า Aphelion เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกปี และตรงกับวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ในปีนี้ ไม่มีผลกระทบต่ออุณหภูมิของโลกหรือต่อสุขภาพของมนุษย์บนโลก

Image
ภาพถ่ายดวงอาทิตย์ของ NASA ที่เปรียบเทียบระหว่างปรากฏการณ์ Perihelion และ Aphelion ในปี 2564

Sánchez กล่าวว่าแม้ระยะห่างระหว่างโลกและดวงอาทิตย์จะเพิ่มขึ้นจริงระหว่างปรากฏการณ์ Aphelion แต่เป็น “การเปลี่ยนแปลงที่เล็กน้อยมาก” และไม่มีผลกระทบต่ออุณหภูมิของโลก

“เราเจอกับปรากฏการณ์ Aphelion ทุกปี” Sánchez กล่าว และ “เกิดความสับสนตลอดเพราะเราเชื่อว่าฤดูกาลต่างๆ ได้รับผลกระทบจากระยะห่างระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ แต่ในความจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้น”

Soucail อธิบายว่าการเปลี่ยนผ่านจาก Aphelion ไปสู่ Perihelion (ระยะห่างที่ใกล้ที่สุดระหว่างดวงอาทิยต์และดาวเคราะห์ในวงโคจร) “ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใน luminous flux (ความแตกต่างของแสงจากดวงอาทิตย์ที่โลกได้รับ) เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และความแตกต่างนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความแตกต่างของสภาพอากาศ”

ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองคนอธิบายว่าความแตกต่างของอุณหภูมิในแต่ละฤดูเกิดจากความแตกต่างของ solar insolation หรือพลังงานจากรังสีของดวงอาทิตย์ที่เดินทางมาถึงโลก ซึ่งเกิดจากความเอียงของแกนโลกที่ต่างกันออกไปในแต่ละฤดู

Sánchez กล่าวว่าปัจจัยนี้ “จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าในฤดูกาลหนึ่ง (ดาวเคราะห์) จะได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์ในซีกโลกใต้มากกว่าอีกฤดู ขณะที่อีกส่วน (ซีกโลกด้านบน) ก็จะเจอกับปราฏการณ์ดังกล่าวเช่นกัน”

Soucail กล่าวว่า “อุณหภูมิเฉลี่ยของฤดูร้อนในซีกโลกในทิศเหนือจะสูงกว่าในซีกโลกในทิศใต้” แม้ว่า “โลกจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ในฤดูร้อน ... เช่นเดียวกับจุดใกล้สุดระหว่างดวงอาทิตย์และโลกในฤดูร้อนของพื้นที่ในซีกโลกในทิศใต้”

ขณะเดียวกันองค์การอนามัยโลกยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ว่าไม่ได้เผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์ Aphelion และผลกระทบต่อสุขภาพของปรากฏการณ์ดังกล่าว

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา