ภาพถ่ายน้ำท่วมเก่าถูกเผยแพร่ในโพสต์ที่เรียกร้องให้ผู้ว่ากทม. ลาออกจากตำแหน่ง

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 23 สิงหาคม 2022 เวลา 09:03
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ภาพถ่ายน้ำท่วมสูงในซอยแห่งหนึ่งได้ถูกแชร์ในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊กและทางเว็บไซต์ออนไลน์ที่เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ได้ตามที่หาเสียงไว้ พร้อมระบุว่าสถานการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพฯ รุนแรงขึ้นจนทำให้มีผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ภาพนี้ถูกแชร์ในบริบทที่ทำให้เข้าใจผิด ภาพถ่ายดังกล่าวถูกเผยแพร่ในรายงานข่าวและในสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 กว่า 2 เดือนก่อนชัชชาติชนะการเลือกตั้งผู้ว่ากทมฯ ขณะที่เจ้าหน้าที่กทมฯ ยืนยันกับ AFP ว่าในปี 2565 ไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันในกรุงเทพ

ภาพถ่ายดังกล่าวปรากฏอยู่ในโพสต์นี้ทางเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “มีคน... เชิญชวนให้ประชาชนลงชื่อ เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพลาออก”

โพสต์ดังกล่าวแชร์ลิงก์เข้าเว็บไซต์ของ Change.org ซึ่งแสดงภาพรถในซอยที่มีน้ำท่วมสูง

ลิงก์การรณรงค์ดังกล่าวถูกแชร์ออกไป หลังกรุงเทพฯ เจอฝนถล่มอย่างหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันหลายแห่ง

หัวข้อของการล่ารายชื่อดังกล่าวเขียนว่า “เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพลาออก”

ข้อความในรายละเอียดแคมเปญ เขียนอธิบายว่าชัชชาติไม่สามารถทำตามนโยบายหาเสียงเกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้ โดยตั้งแต่ชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ สถานการณ์น้ำท่วมนั้นแย่ลงจนมีผู้เสียชีวิต

“แต่พบว่าในปัจจุบันปัญหาน้ำท่วมเพิ่มขึ้นอีกทั้งในจุดที่อดีตน้ำไม่เคยท่วมก็ท่วมจนทำให้มีผู้เสียชีวิต”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด


ชัชชาติชนะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยเอาชนะอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากทมฯ คนก่อน ในการเลือกตั้งผู้ว่ากทมฯ ครั้งแรกตั้งแต่การรัฐประหารของกองทัพในปี 2557

ภาพถ่ายดังกล่าวได้ถูกแชร์มากกว่า 100 ครั้งในโพสต์ออนไลน์ที่เรียกร้องให้คนไปลงชื่อในการรณรงค์ดังกล่าว ที่นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายดังกล่าวถูกเผยแพร่ก่อนชัชชาติชนะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ

ภาพน้ำท่วมเก่า

การค้นหาภาพย้อนหลังพบว่าภาพถ่ายดังกล่าวถูกโพสต์ลงทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2565 สองเดือนก่อนชัชชาติชนะการเลือกตั้งผู้ว่ากทมฯ

ภาพดังกล่าวถูกแชร์ต่อโดยสถานีวิทยุการจราจร JS100 โดยระบุว่าเป็นภาพน้ำท่วมซอยแห่งหนึ่งในย่านห้วยขวาง ทางภาคตะวันออกของกรุงเทพฯ

คำบรรยายโพสต์ของ JS100 เขียนว่า “ห้วยขวาง มีน้ำท่วมขังทุกซอย”


ภาพถ่ายเดียวกันถูกเผยแพร่ในรายงานข่าวของสื่อท้องถิ่นเกี่ยวกับเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2565

รายงานออนไลน์ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเขียนพาดหัวว่า “ฝนถล่มทั่ว กรุงเทพฯ “ห้วยขวาง” หนักสุด วัดได้ 94 มม.”

ภาพดังกล่าวถ่ายในเขตห้วยขวาง ซึ่งตรงกับภาพถ่ายจาก Google Maps ที่นี่


ไม่มีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในปี 2565

สรรเสริญ เรืองฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต สำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งดูแลศูนย์ควบคุมน้ำท่วมยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 ว่าในปี 2565 ไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพฯ

“กรณีเหตุฝนตกหนัก ทำให้เกิดปัญญาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร ยังไม่มีเหตุร้ายรุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตครับ” เขากล่าว

“ท่วมฉับพลันที่อาจเกิดขึ้น ระดับน้ำเพียงเล็กน้อย ไม่ได้ไหลเชี่ยวรุนแรง มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการใช้ชีวิตปกติ เช่น ปัญหาการจราจร เดินทางไม่สะดวกครับ”

AFP ไม่พบรายงานข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันในกรุงเทพฯ ในปี 2565 ทั้งในเดือนมีนาคมและสิงหาคม

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา