
คำกล่าวอ้างเท็จเกียวกับ “ทาสชาวไอริช” ถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 14 กันยายน 2565 เวลา 11:21
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: AFP Thailand
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
ภาพถ่ายนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 และถูกแชร์ต่ออีกกว่า 4,800 ครั้ง
คำบรรยายโพสต์บางส่วนเขียนว่า: “ประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยรู้ : ปศุสัตว์มนุษย์”
“ไอร์แลนด์กลายเป็นแหล่งผลิตปศุสัตว์มนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดสำหรับพ่อค้าอังกฤษอย่างรวดเร็ว ทาสยุคแรกส่วนใหญ่ของโลกนั้นเป็นคนผิวขาว!”
“ช่วงปี 1641 - 1652 ชาวไอริชกว่า 500,000 คนถูกสังหารโดยอังกฤษและอีก 300,000 คนถูกขายเป็นทาส ประชากรของไอร์แลนด์ลดลงจากประมาณ 1,500,000 เหลือ 600,000 ในทศวรรษเดียว!”

คำกล่าวอ้างคล้ายกัน ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ในเดือนกันยายน 2565 และก่อนหน้านี้ในปี 2563 ที่นี่
คำกล่าวอ้างเดียวกันถูกแชร์มากกว่า 10,000 ครั้งในประเทศแคนาดาและสหรัฐฯ ในปี 2563 ที่นี่ นี่และนี่
Liam Hogan นักประวัติศาสตร์และบรรณารักษ์ชาวไอริช อธิบายว่าเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับ “ทาสชาวไอริช” มักจะถูกนำกลับมาแชร์ใหม่เมื่อมีการประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวหรือการเรียกร้องค่าชดเชยต่อการค้าทาสชาวแอฟริกาในอดีต
ภาพถ่ายไม่เกี่ยวกับเนื้อหา
ภาพถ่ายที่ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างในโพสต์ดังกล่าว ไม่ได้แสดงชาวไอริช ไม่ได้เป็นภาพถ่ายในทวีปอเมริกาเหนือ และไม่ได้เป็นภาพถ่ายจากศตวรรษเดียวกับเนื้อหาที่ถูกพูดถึงในคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิด
การค้นหาภาพย้อนหลัง พบภาพถ่ายคล้ายๆ กัน ถูกเผยแพร่ในบล็อกออนไลน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ บนเว็บไซต์ Pinterest และ Reddit พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นภาพแรงงานขุดเหมืองชาวอิตาลีในประเทศเบลเยียมในช่วงปี คศ. 1900
Colette Ista ผู้ช่วยผู้อำนวยการมรดกโลกของยูเนสโก ยืนยันกับ AFP ทางอีเมลว่าได้มีการขึ้นทะเบียนพิพิธภัณฑ์เหมือง Bois Du Cazier ในประเทศเบลเยียม พร้อมยืนยันว่าภาพถ่ายดังกล่าวเป็นภาพจากช่วงปลายศตวรรษที่ 19 หรือช่วงต้นศตวรรษที่ 20
Ista อธิบายว่าภาพดังกล่าว “แสดงลิฟต์กรงเหล็กภายในเหมืองของ Mariemont-Bascoup ในภาคกลางของประเทศเบลเยียม ใกล้กับเมือง La Louvière” โดย Ista ยืนยันว่าภาพถ่ายนี้ไม่เกี่ยวข้องกับไอร์แลนด์หรืออาณานิคมของอังกฤษในทวีปอเมริกาเหนือ
ทาสและแรงงานสัญญาผูกมัด
คำกล่าวอ้างหลักว่าแรงงานชาวไอริชในอาณานิคมเป็นทาสนั้น เป็นคำกล่าวอ้างเท็จ ข้อมูลจากหนังสือและบันทึกประวัติศาสตร์ใช้การจำกัดความบุคคลเหล่านี้ว่าเป็นบริวารหรือ “แรงงานพันธสัญญา” (indentured servitude)
Jerome Handler นักวิชาการอาวุโสที่ Virginia Humanities และ Matthew C. Reilly ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านมนุษยวิทยาที่ City University of New York อธิบายว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันว่า ชาวอังกฤษ เวลส์ สก็อตติช และไอริช มีความต้องการที่จะย้ายถิ่นฐานไปยังเกาะดังกล่าว อย่างไรก็ตามคนกลุ่มนี้ไม่มีปัจจัยสำหรับค่าเดินทางและการยังชีพ และอาสาเข้าสู่การเป็นแรงงานที่มีสัญญาผูกมัดด้วยความสมัครใจของพวกเขาเอง
ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างแรงงานสัญญาผูกมัดและทาส ถูกระบุไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่อย่างน้อยปี 1722 ในหนังสือประวัติศาสตร์เวอร์จิเนีย โดย Robert Beverly Jr.
Robert Beverly Jr. เขียนว่า: “ทาส ซึ่งคือเหล่านิโกร [sic] และลูกหลานของพวกเขาตามสภาพของมารดาตามคติพจน์ partus frequitur ventrem พวกเขาจะถูกเรียกว่าเป็นทาสในแง่ของเวลาที่เป็นทาสเพราะการเป็นทาสนั้นหมายถึงสภาพทาสชั่วชีวิต ขณะที่บริวาร หมายถึงผู้รับใช้ซึ่งกำหนดเวลาไม่กี่ปี ตามเวลาที่ระบุในสัญญาผูกพัน หรือตามประเพณีของประเทศ”

Brendan Wolfe บรรณาธิการของสารานุกรมเวอร์จิเนีย ยืนยันเช่นกันว่า “แรงงานผูกมัดคือชายและหญิงที่ลงนามในสัญญา (ที่เรียกว่าสัญญาผูกมัดหรือพันธสัญญา) โดยที่พวกเขาตกลงที่จะทำงานเป็นเวลาหลายปีเพื่อแลกกับการขนส่งไปยังเวอร์จิเนีย ซึ่งรวมถึงอาหาร เสื้อผ้า และที่พักพิง เมื่อพวกเขาเดินทางมาถึงที่หมาย”
ชาวไอริชกว่า 300,000 คนถูกขายเป็นทาส
คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ
Hogan เขียนบนบล็อกออนไลน์ของเขาว่า: “เพื่อให้ข้อมูลทุกอย่างอยู่ในบริบทที่ถูกต้อง ระหว่างปี 1630 และ 1775 การอพยพของประชากรจากประเทศไอร์แลนด์ไปยังแถบหมู่เกาะอินเดียตะวันตกตลอดศตวรรษที่ 17 นั้นคาดการณ์ว่าอยู่ที่ประมาณ 50,000 คน และการอพยพจากไอร์แลนด์ไปยังอาณานิคมของอังกฤษในทวีปอเมริกาเหนือประเมินเป็นตัวเลขราว 165,000”
John Dorney นักประวัติศาสตร์ชาวไอริช ได้เขียนอธิบายว่าคำกล่าวอ้างของโพสต์ที่ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตในประเทศไอร์แลนด์ระหว่างปี 1641 และ 1652 สูงถึง 500,000 คนเป็นตัวเลขที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวเกิดจากสงครามสิบเอ็ดปี (Eleven Years War) “สงครามสร้างความเสียหายอย่างมาก โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตบันทึกไว้ระหว่าง 200,000 ถึง 600,000 ราย”
ขณะที่ Padraig Lenihan นักประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไอร์แลนด์ กัลเวย์ กล่าวระหว่างออกอากาศในรายการวิทยุ Irish History Show ว่า: “แม้ว่าไอร์แลนด์จะสูญเสียประชากรจากภาวะสงครามและความอดอยากระหว่างปี 1641-53 ไปราว 20-40% ประชากรของประเทศกลับเพิ่มขึ้นเท่าตัวตลอดศตวรรษที่ 17 จากประมาณ 1 ล้านเป็น 2 ล้าน”
เด็กไอริชกว่า 100,000 คน ถูกนำมาค้าทาส
นอกจากนี้ Hogan ยังเขียนอธิบายด้วยว่าคำกล่าวอ้างเรื่องเด็กไอริชถูกนำมาค้าทาส เป็น “คำกล่าวอ้างเกินจริงที่เป็นภัยต่อบันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการขนส่งและการลักพาตัวที่ผิดกฎหมายด้วยการอนุมานว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง”
“คดีที่โด่งดังที่สุดคือของ David Selleck พ่อค้ายาสูบจากบอสตัน นิวอิงแลนด์ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 1653 ได้มีการออกหมายให้กับ Selleck (หลังจากเขายื่นคำร้อง) สำหรับการเคลื่อนย้ายเด็กชาวไอริช 400 คนไปยังนิวอิงแลนด์และเวอร์จิเนีย”
Hogan อธิบายเพิ่มว่า “แม้ในตอนนั้นมีการรับรองหมายการขนย้ายเด็ก แต่ภายหลังได้รับการยืนยันว่าเป็นเยาวชนและผู้ใหญ่” โดยเป็น “แรงงานพันธสัญญาที่ตกเป็นเหยื่อกระบวนการค้ามนุษย์โดยไม่ยินยอม” โดยพบว่ามีการเคลื่อนย้ายจากเรือลำหนึ่งในรัปปาฮันน็อก ในเวอร์จินเนีย และอีกลำจากนิวอิงแลนด์
แม้ว่าสภาพจะแย่มาก และหลายคนก็ถูกลักพาตัวมา แต่นักประวัติศาสตร์ Handler และ Reilly อธิบายในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ของเวอร์จินเนีย ของ Beverly ปี 1722” ว่าการกล่าวว่าคนเหล่านี้ถือเป็นทาสเป็นคำกล่าวอ้างที่ผิด เนื่องจากเขามีหลักฐานเรื่องการรับรองในพันธสัญญา ซึ่งต่างจากแรงงานทาสจากทวีปแอฟริกาที่ในสมัยนั้นจะเป็นทาสตลอดชีวิต
ทาสจากทวีปแอฟริกา แพงกว่าชาวไอริช
ไม่มีหลักฐานสนับสนุนคำกล่าวอ้างนี้ ขณะเดียวกันข้อเท็จจริงจากประวัติศาสตร์ระบุว่าทาสชาวแอฟริกันประหยัดกว่าแรงงานสัญญาผูกมัดในช่วงเวลาดังกล่าว
David Galenson นักเศรษฐศาสตร์เขียนไว้ว่า “ในที่สุดชาวไร่ก็ได้หันไปใช้ทาสผิวดำเป็นแรงงานกลุ่มหลัก การเปลี่ยนแปลงจากบริวารไปสู่แรงงานทาส เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ต่างกันในภูมิภาคเหล่านี้ และในอัตราที่ต่างกันด้วย ซึ่งเชื่อมโยงอย่างชัดเจนในแง่ของค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันระหว่างแรงงานทั้งสองประเภทในหมู่ชาวไร่ในพื้นที่อาณานิคม”
การบังคับผสมพันธุ์ระหว่างหญิงชาวไอริชและทาสชาวแอฟริกัน
“ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างเหล่านี้เลยในหมู่เกาะอินเดียตะวันตกของอังกฤษ และอาณานิคมของอังกฤษในทวีปอเมริกาเหนือ คำกล่าวอ้างประวัติศาสตร์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของจินตนาการเกี่ยวกับลัทธิซาโดมาโซคิสต์ทางเชื้อชาติและอีกส่วนหนึ่งเป็นตำนานของลัทธิเหนือผู้มีอำนาจสูงสุดสีขาว á la ‘The Birth of a Nation’ ที่เพิ่มความรู้สึกเหยียดเชื้อชาติในมีมทาสชาวไอริช” Hogan กล่าว
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา