คลิปขีปนาวุธรัสเซียทำลายรถถังนาโตในยูเครน แท้จริงคือวิดีโอเกม

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 12 ตุลาคม 2022 เวลา 11:32
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คลิปวิดีโอหนึ่งซึ่งมียอดรับชมนับร้อยๆ ครั้ง ได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กในประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2565 พร้อมคำกล่าวอ้างว่าวิดีโอดังกล่าวแสดงรถถังและรถขนอาวุธของนาโตในยูเครนที่ถูกยิงทำลายด้วยขีปนาวุธรัสเซีย คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ เอเอฟพีไม่พบรายงานที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการต่อสู้ที่โพสต์ดังกล่าวพูดถึง ขณะที่คลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นภาพจากคอมพิวเตอร์กราฟฟิกของวิดีโอเกมออนไลน์

คลิปวิดีโอความยาว 5 นาทีนี้ ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “รถถังและรถขนอาวุธของนาโต้ที่จะส่งไปช่วยยูเครนหลังจากประชุมเสร็จ ถูกหน่วยขีปนาวุธของรัสเซียที่เฝ้าซุ่มสังเกตการณ์อยู่ยิงทำลายเกือบหมดด้วยความแม่นยำ”

“เราจะเห็นได้ว่านี่คือวิธีการใหม่ ๆ ที่รัสเซียใช้อาวุธขั้นสูงเข้ามาช่วยในการต่อสู้ มันน่าทึ่งมาก! ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรต่างก็ผลักดันให้ชาติพันธมิตรต่อต้านรัสเซีย”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

เนื่องจากความกังวลว่าความขัดแย้งจะขยายวงกว้างขึ้นหรือเทคโนโลยีใหม่อาจจะตกอยู่ในมือของรัสเซีย สหรัฐฯ และชาติสมาชิกนาโตได้จัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์หนัก เช่นปืนใหญ่และเครื่องยิงจรวดหลายลำกล้องให้กับยูเครน เพื่อเป็นการเสริมสมรรถนะและความแม่นยำในการต่อสู้ระยะไกลที่สูงกว่าอาวุธที่รัสเซียใช้อยู่ สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ผู้นำยูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี เรียกร้องให้ชาติตะวันตกช่วยรัฐบาลเคียฟสร้างเกราะป้องกันทางอากาศภายหลังการโจมตีของรัสเซีย ซึ่งถือเป็นการยกระดับของสงคราม ขณะที่กองทัพยูเครนพยายามยึดพื้นที่ทางทิศตะวันออกของประเทศคืนจากรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม เอเอฟพีไม่พบรายงานที่ระบุว่ามีการโจมตีตามที่อธิบายในโพสต์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นจริง

คลิปวิดีโอเดียวกันถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่

คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ คลิปวิดีโอดังกล่าวถูกนำมาจากวิดีโอเกมออนไลน์

เกมคอมพิวเตอร์

การค้นหาภาพย้อนหลังด้วยคีย์เฟรมบนกูเกิล ตามด้วยการค้นหาด้วยคำสำคัญทางยูทูป พบคลิปวิดีโอความยาว 8 นาทีที่มีภาพตรงกับคลิปวิดีโอที่ทำให้เข้าใจผิด ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 2 กันยายน

ชื่อของวิดีโอดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยว่า “ขบวนรถหุ้มเกราะบนสะพานถูกซุ่มโจมตีโดยขีปนาวุธต่อต้านรถถังของยูเครน - ARMA 3”


คลิปวิดีโอดังกล่าว ถูกโพสต์ลงช่องยูทูปที่มีชื่อว่า UWC โดยคำอธิบายช่องแปลเป็นภาษาไทยว่า “คลิปวิดีโอทั้งหมดบนช่องเป็นการจำลองปฎิบัติการณ์ต่อสู้จากเกม ARMA 3”

ARMA 3 เป็นเกมคอมพิวเตอร์แนวสงครามที่วางจำหน่ายตั้งแต่ปี 2556 และถูกพัฒนาโดยบริษัท Bohemia Interactive ในประเทศสาธารณรัฐเช็ก

เอเอฟพีติดต่อไปยัง Pavel Křižka ตัวแทนของบริษัท Bohemia Interactive เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 โดยได้รับคำตอบว่าว่าคลิปวิดีโอดังกล่าว “เป็นวิดีโอที่สร้างขึ้นจากเกม ARMA 3 ที่ผ่านการใช้ Mod (แก้ไข) อย่างหนัก”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายของวิดีโอในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และคลิปวิดีโอต้นฉบับจากยูทูป (ขวา):

Image
Image
Image
เปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายของวิดีโอในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และคลิปวิดีโอต้นฉบับจากยูทูป (ขวา)

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคลิปวิดีโอที่ใช้ภาพจากเกม ARMA 3 ที่ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นเหตุการณ์สู้รบจริงในประเทศยูเครน

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา