
ภาพถ่ายไต้ฝุ่นมุมสูงจากดาวเทียมถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นภาพถ่าย “ไต้ฝุ่นโนรูในปี 2565”
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 4 ตุลาคม 2565 เวลา 09:45
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: AFP Thailand
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
ภาพถ่ายชุดนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 และถูกแชร์ต่ออีกกว่า 9,000 ครั้ง
คำกล่าวอ้างในโพสต์ดังกล่าวเขียนว่า: “ภาพที่ทุกคนอยากเห็น: [ไต้ฝุ่น] โนรู”
“ภาพถ่ายจากดาวเทียมสด ๆ ก่อนขึ้นฝั่งเวียดนามพรุ่งนี้ มันใหญ่มาก”
โพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ไต้ฝุ่นโนรูกำลังเคลื่อนตัวขึ้นชายฝั่งตอนกลางของเวียดนามอย่างรวดเร็ว

ไต้ฝุ่นโนรูทำลายบ้านเรือนและทำให้ภาคกลางของเวียดนามไม่มีไฟฟ้าใช้ ขณะที่ในประเทศฟิลิปปินส์ผู้คนนับแสนต้องอพยพออกนอกพื้นที่หลังมีรายงานผู้เสียชีวิตถึง 10 รายจากพายุไต้ฝุ่นโนรู
เวียดนามเป็นประเทศที่ต้องรับมือกับพายุกำลังแรงในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือน มิ.ย. ถึง พ.ย. ในแต่ละปี โดยจังหวัดที่ตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งในภาคกลางของประเทศจะได้รับผลกระทบมากที่สุด อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าพายุจะมีกำลังแรงขึ้นจากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นจากภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
ภาพถ่ายชุดเดียวกันได้ถูกแชร์ในโพสต์ทางเฟซบุ๊กในประเทศไทยที่นี่ นี่ และนี่ และถูกแชร์ในโพสต์ของประเทศเวียดนามที่นี่และนี่
อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายเหล่านี้เป็นภาพที่ถ่ายไว้หลายปีก่อนไต้ฝุ่นโนรูพัดถล่มเวียดนามในปี 2565
ภาพถ่ายจากดาวเทียม
สำหรับภาพแรกถูกโพสต์ลงทวิตเตอร์โดย อเล็กซานเดอร์ เกิร์ส นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน โดยเป็นทวีตเกี่ยวกับไต้ฝุ่นทรามี ซึ่งพัดขึ้นฝั่งของประเทศญี่ปุ่นในเดือน ก.ย. 2561
As if somebody pulled the planet's gigantic plug. Staring down the eye of yet another fierce storm. Category 5 Super Typhoon Trami is unstoppable and heading for Japan and Taiwan. Be safe down there! #TyphoonTramipic.twitter.com/4VmY2hhj2c
— Alexander Gerst (@Astro_Alex) September 25, 2018
ภาพดังกล่าวยังถูกแชร์โดยองค์การอวกาศยุโรป (ESA) บนเว็บไซต์ภาพถ่ายฟลิคเกอร์ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2561
อิทธิพลของไต้ฝุ่นทรามีทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และทำให้การคมนาคมในกรุงโตเกียวต้องหยุดชะงักลง
ขณะที่ภาพถ่ายที่สองและสามปรากฏอยู่ในรายงานเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2560 ของหนังสือพิมพ์ฮ่องกง เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ (SCMP)
จากรายงานดังกล่าว ภาพถ่ายที่สองและสามเป็นภาพถ่ายไต้ฝุ่นในปี 2560 ที่มีชื่อว่าโนรูเช่นเดียวกัน โดยมีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีก 51 คน
เนื้อหาบางส่วนของรายงาน SCMP แปลเป็นภาษาไทยว่า: “นักดาราศาสตร์และนักบินอวกาศซึ่งประจำอยู่ที่สถานีอวกาศนานาชาติกำลังสังเกตโนรูอย่างใกล้ชิด และภาพที่พวกเขาส่งกลับมายังโลกผ่านทวิตเตอร์ก็น่าทึ่งเลยทีเดียว”
บทความดังกล่าวระบุว่าเป็นภาพถ่ายที่สองว่าเป็นผลงานของเซอร์กีย์ รียาซานสกีย์ นักบินอวกาศจากรัสเซีย ขณะที่ภาพที่สามถ่ายโดยแรนดีย์ เบิร์นนิค นักดาราศาสตร์จากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา)
รียาซานสกีย์ทวีตภาพดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2561 และเบิร์นนิคทวีตภาพของเขาในวันถัดไป
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) กับภาพจากต้นฉบับ (ขวา):



พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา