
ภาพผัดไทยไม่ได้ถูกใช้เป็นปกเพลงของเทย์เลอร์ สวิฟต์
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 เวลา 08:20
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำบรรยายของโพสต์บนเฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด มีใจความว่า “โลกโซเชียลชะงักงันทันทีที่เพลงใหม่อย่าง “Lover” ของศิลปินอเมริกันชื่อก้องโลกเทย์เลอร์ สวิฟต์ ซึ่งเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 มีภาพวาดผัดไทยอยู่ด้วย” โดยโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
โพสต์ดังกล่าวซึ่งมีผู้ใช้งานคนอื่นๆ แชร์ไปมากกว่า 2,300 ครั้ง ยังให้ข้อมูลเท็จว่าเพลง “Lover” ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ เพิ่งปล่อยออกมาในปีนี้ ในความเป็นจริงนั้น เพลงดังกล่าวถูกปล่อยออกมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562
ผัดไทยเป็นเมนูอาหารที่ได้รับความนิยม โดยมีส่วนประกอบสำคัญอย่างเส้นผัดไทย ไข่ เต้าหู้ และเนื้อสัตว์

คำบรรยายที่อยู่บนภาพระบุว่า: “ซอฟต์พาวเวอร์ไทย กระหึ่มโลก เทย์เลอร์ สวิฟต์ ยก ‘ผัดไทย’ ขึ้นปกซิงเกิลใหม่”
ขณะที่คำบรรยายภาพกล่าวเพิ่มว่า: “หลายคนต้องขยี้ตาและเช็คว่านี่เป็นช่องของเทยืเลรอ์ สวิฟต์ จริงหรือไม่ ปรากฎว่านี่เป็นช่องของเธอซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 50 ล้านบัญชี จริงๆ นี่นำไปสู่คำถามว่า ‘ทำไม?’ หรือว่าเธอจะชอบผัดไทยเข้าจริงๆ จนเอามาเป็นภาพปกเพลง”
คอมเมนต์จากโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายคนเชื่อว่าอาหารจานเด็ดของไทย ถูกใช้เป็นปกเพลงของเทย์เลอร์จริง
คอมเมนต์หนึ่งเขียนว่า “ผัดไทยเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่นี่จะทำให้มันเป็นที่นิยมมากขึ้นไปอีก ขอบคุณเทย์เลอร์”
ขณะที่ผู้ใช้งานอีกคนหนึ่งชี้ว่า “มีความสุขและภูมิใจที่ได้เห็นสิ่งนี้ เรามาช่วยกัน ฉันคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว”
คำกล่าวอ้างเดียวกันนี้ยังถูกแชร์พร้อมกับรูปภาพคล้ายๆ กันที่ นี่ นี่ นี่ และนี่บนเฟซบุ๊ก ทั้งยังมีบทความออนไลน์เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด
ภาพบันทึกหน้าจอที่แสดงให้เห็นรูปผัดไทยนั้นมีที่มาจากคลิปวิดิโอที่สร้างขึ้นมาโดยอัตโนมัติของยูทูป โดยเผยแพร่ผ่านช่องของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ซึ่งมียิดติดตามมากกว่า 50 ล้านบัญชี
การใช้เครื่องมือค้นหาภาพย้อนหลัง พร้อมการค้นหาด้วยคำสำคัญด้วยกูเกิล AFP พบว่า ภาพผัดไทยดังกล่าวถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ Shutterstock.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์รวบรวมภาพถ่ายและรูปวาดที่ไม่คิดค่าลิขสิทธิ์

จากบันทึกบนเว็บไซต์ Wayback Machine AFP พบว่าได้มีการบันทึกลิงค์ยูทูปดังกล่าวครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 โดยเป็นวิดีโอที่มีความยาว 3:05 นาที ภายใต้ชื่อวิดิโอ “Lover”
ภาพผัดไทยดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นภาพประกอบเพลงของเทย์เลอร์ผ่านระบบอัลกอริทึมอัตโนมัติของยูทูป
ข้อมูลจากเพจ Help Center ของยูทูป เขียนอธิบายว่า “Art Track” คือวิดีโอบนยูทูปที่ผลิตผ่านระบบอัตโนมัติ (auto-generated video) ซึ่งใช้เพลงจากอัลบั้มของศิลปิน
Art Tracks เป็นเพลงของศิลปินคนนั้นๆ ที่ระบบของยูทูปสร้างขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ โดยใช้เสียงจากเพลงประกอบกับภาพที่สร้างขึ้นเป็นปกให้กับวิดีโอดังกล่าว
ภาพปกต้นฉบับของ Lover ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ทางการของสวิฟต์และบน Spotify
View this post on Instagram
เทย์เลอร์ อัลบั้ม Lover ซึ่งเป็นชุดที่ใช้ชื่อเดียวกับเพลงซิงเกิลดังกล่าว ถูกโปรโมททางบัญชีอินสตาแกรมที่ได้รับการยืนยันตัวตนของเธอ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 ก่อนที่ชุดเต็มจะถูกวางจำหน่ายในเดือนสิงหาคม
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 นิตยสารไลฟ์สไตล์ Vogue Thailand เขียนอธิบายประเด็นดังกล่าวที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในบทความฉบับนี้ที่มีชื่อว่า “เกิดอะไรขึ้น! ทำไมเหล่าศิลปินระดับโลกต่างเลือกใช้ภาพ ‘ผัดไทย’ มาตั้งเป็นหน้าปกเพลงของตัวเอง”
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา