
ผู้เชี่ยวชาญเตือน มะแว้งนกไม่ใช่ยาสมุนไพร ไม่มีหลักฐานว่ารักษาโรคได้จริง
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 1 ธันวาคม 2565 เวลา 09:37
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างเท็จเกี่ยวกับมะแว้งนกถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565
โพสต์ดังกล่าวอ้างว่าต้นมะแว้งนกสามารถ “ใช้เป็นยารักษามะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก”
คำบรรยายกล่าวต่อว่าชุมชนชาวเขาในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ใช้พืชดังกล่าวเพื่อรักษาโรคเบาหวานและอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ
“ชาวเขาเผ่าอีก้อและมูเซอจะใช้รากและผลมะแว้งนก นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาบำรุงร่างกาย แก้อาการอ่อนเพลีย (ราก, ผล) ใช้รักษาเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือด”
“ผลสุกและดอกมะแว้งนกมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ (ดอก, ผลสุก) ส่วนชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่จะนำรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ”

คำกล่าวอ้างเดียวกันถูกแชร์ในเฟซบุ๊กอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2564 2563 2562 และ 2561
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญอธิบายกับ AFP ว่ามะแว้งนกไม่อยู่ในบัญชียาสมุนไพร และมีความเสี่ยงในการทานเนื่องจากเป็นพืชที่มีพิษ
พืชมีพิษ
บุษราภรณ์ ธนสีลังกูร นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อธิบายกับ AFP เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ว่า “วัชพืชตัวนี้มีพิษสูงนะคะ มีพิษทั้งต้นเลย ไม่แนะนำให้เอามาใช้รักษาเองค่ะ”
เธอกล่าวว่าบางส่วนของพืชจะมีสารที่เรียกว่า solanine ซึ่งถ้ารับสารเข้าไปจะมีอาการคลื่นใสและทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นได้
“ในบางกรณี เช่นถ้ามีอาการแพ้ สารเคมีดังกล่าวอันตรายถึงชีวิตได้เลย” บุษราภรณ์กล่าว
ข้อมูลจาก WebMD เว็บไซต์ข้อมูลด้านสุขภาพของสหรัฐอเมริกา ระบุว่าผลไม้สีเขียวของต้นมะแว้งนกเป็นส่วนที่มีสาร solanine ที่เข้มข้นที่สุด และถือเป็นส่วนที่มีพิษสูงที่สุด
ไม่ใช่ยาสมุนไพร
บุษราภรณ์กล่าวว่า มะแว้งนกยังไม่ผ่านการรับรองเพื่อการใช้เป็นยาแผนไทย
“แม้ว่าจะมีการกล่าวถึงว่าใช้เป็นสมุนไพรพื้นบ้าน ว่ามีสรรพคุณในการกำจัดเนื้องอก หรืออาจจะใช้รักษาเบาหวาน แต่ยังไม่ได้ถูกนำขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณเนื่องจากไม่มีรายละเอียดและงานวิจัยในการใช้เป็นยารักษาค่ะ”
บัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งเผยแพร่โดยกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ไม่ได้ระบุถึงมะแว้งนก ว่าเป็นยาสมุนไพร
นพ.ศุภกร พิทักษ์การกุล แพทย์เฉพาะทางสาขามะเร็งวิทยานรีเวช หัวหน้ากลุ่มงานมะเร็งนรีเวช สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กับ AFP เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ว่า “แม้สารที่พบในพืชดังกล่าวจะถูกบันทึกเอาไว้ว่าสามารถใช้ฆ่าเซลล์มะเร็งได้จริง แต่นี้คือผลจากการทดลองในห้องแลบ”
“วิธีการดังกล่าวยังไม่ผ่านการทดสอบในแง่ของความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการใช้รักษามะเร็งในผู้ป่วย”
ในเดือนมีนาคม 2564 สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้เผยแพร่รายงานซึ่งระบุว่ามะแว้งนกรักษามะเร็งเป็นข่าวปลอม
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา