ผู้เชี่ยวชาญเตือนคำกล่าวอ้างเท็จเรื่อง “ดื่มน้ำอุ่นรักษาโรค” ใช้ไม่ได้จริง

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 13 มกราคม 2566 เวลา 06:13
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: Panisa AEMOCHA, AFP Thailand
คำกล่าวอ้างเท็จเรื่องการดื่มน้ำอุ่นขณะท้องว่างในตอนเช้าสามารถรักษาโรคต่าง ๆ เช่นโรคหัวใจและโรคลมบ้าหมูได้ และการดื่มน้ำเย็น “เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” ถูกแชร์หลายหมื่นครั้งในโพสต์ทางเฟซบุ๊ก อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญอธิบายกับ AFP ว่าพฤติกรรมดังกล่าว แม้จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ไม่สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคตามที่กล่าวอ้างได้จริง และการดื่มน้ำเย็นไม่ใช่เรื่องอันตราย

คำบรรยายโพสต์เฟซุบ๊กดังกล่าวกล่าวเขียนว่า “ลองดู สัก 1 เดือนไม่เสียเงิน / กลุ่มแพทย์ชาวญี่ปุ่น ยืนยันว่า “น้ำอุ่น” มีประสิทธิภาพ ในการแก้ปัญหาสุขภาพได้ 100%”

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์มากกว่า 26,000 ครั้ง

โพสต์ดังกล่าวเขียนระบุโรคต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตต่ำ โรคหัวใจ และโรคลมบ้าหมู ว่าสามารถรักษาได้ด้วยการดื่มน้ำอุ่น

โพสต์เหล่านี้ยังระบุว่าวิธีดื่มน้ำแบบนี้เรียกว่า “การบำบัดด้วยน้ำแบบญี่ปุ่น” ซึ่งจะหมายถึงการดื่มอุ่นน้ำราว 4 แก้ว ตอนท้องว่างหลังตื่นนอน โดยอธิบายว่าวิธีการบำบัดนี้สามารถใช้รักษาโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคอื่น ๆ ได้ “ภายในเวลา 30 วัน”

คำบรรยายเขียนเตือนว่า “#พึงระลึกไว้เสมอว่า น้ำเย็นจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณ” และ “#น้ำเย็นจะปิด 4 หลอดเลือดดำของหัวใจและทำให้หัวใจวาย เครื่องดื่มเย็นเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอาการหัวใจวาย”

โพสต์นี้ยังแชร์รูปแสกนสมอง 2 ภาพ พร้อมข้อความที่ระบุว่า: “ปวดหัวเป็นปี คิดว่าเครียด! กินพาราไม่หาย ตรวจเจอเนื้องอกในสมอง” ซึ่งมีลายน้ำของรายการโหนกระแสอยู่ที่มุมซ้ายบน

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

มีผู้ใช้งานรายอื่นที่โพสต์คำกล่าวอ้างปลอมนี้เช่นเดียวกัน เช่น นี่และนี่

ผู้ใช้งานส่วนหนึ่งเชื่อว่าคำกล่าวอ้างนี้เป็นความจริง

คอมเมนต์หนึ่งระบุว่า “ผมเชื่อคนนึงนะย่าผมอายุ 92-93 กินแต่น้ำอุ่นน้ำต้มทุกวันไม่กินน้ำเย็นเลย ทุกวันนี้แกยังเดินขึ้นลงบันไดชั้น6 ได้ด้วยตัวคนเดียว ช่วงโควิดระบาดหนักๆแกก็ติด ติดกันทั้งหมด คนอื่นไข้แทบตาย ส่วนแกแค่เจ็บคอ”

ขณะที่ผู้ใช้งานอีกคนกล่าวว่า “ได้ยินมาหลายครั้ง จะลองดูสักหน่อย ไม่มีอะไรเสียหาย แถมยังสุขภาพดี”

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

พญ.นวพร นภาทิวาอำนวย ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ จากโรงพยาบาลพญาไท กล่าวกับ AFP ว่า ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนคำกล่าวอ้างว่าการดื่มน้ำอุ่นสามารถรักษาโรคได้

“เป็นไปไม่ได้เลยที่น้ำอุ่นจะสามารถรักษาโรคทั้งหมดที่อ้างมาเช่นโรคหัวใจหรือการลดไขมัน” เธอบอกกับ AFP ผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2565

เธอเสริมว่าน้ำอุ่นที่อยู่ในระดับ 50-70 องศาเซลเซียส อาจช่วยให้ผู้ดื่มที่มีอาการ “เจ็บคอหรืออยู่ในอากาศหนาว” รู้สึกดีขึ้นได้ แต่ “วิธีการดังกล่าวไม่สามารถฆ่าแบคทีเรียหรือไวรัสได้”

พญ.นวพร อธิบายต่อด้วยว่า “น้ำเย็นไม่ได้เป็นอันตราย”

“ภาวะหัวใจอุดตัน หรือที่รู้จักกันในชื่อ ภาวะหลอดเลือดแข็ง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวานไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับน้ำ มันเกิดจากหินปูนหรือไขมันที่ไปสะสมบริเวณผนังหลอดเลือด”

SaVanna Shoemaker นักโภชนาการจากประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่าแม้การดื่มน้ำอุ่นบำบัดอาจมีประโยชน์ เช่นการเพิ่มปริมาณการดื่มน้ำและลดปริมาณแคลลอรี แต่มัน “ไม่สามารถรักษาอาการทางการแพทย์ได้”

“น่าเสียดายที่ฉันพบงานวิจัยที่เกี่ยวของกับการบำบัดด้วยน้ำแบบญี่ปุ่นได้น้อยมาก และไม่เจองานศึกษาที่มีนักวิชาการผู้อื่นเข้ามาตรวจสอบอีกที (peer-reviewed) เลย” เธอกล่าวกับ AFP ผ่านอีเมลเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2565

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันที่ระบุว่าน้ำอุ่นสามารถรักษาโรคมะเร็งได้และน้ำเย็นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา