คลิปวิดีโอนี้แสดงขั้นตอนการผลิตไข่เยี่ยวม้าและไข่เค็มจากประเทศจีน ไม่ใช่คลิปการผลิต ‘ไข่ปลอม’
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 30 มกราคม 2023 เวลา 10:19
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คลิปวิดีโอความยาว 3:07 นาทีนี้ถูกโพสต์ลงทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566
คำบรรยายโพสต์เขียนว่า: “เตือนภัย .ไข่ปลอมนำเข้าจากจีนกินแล้วอันตราย..ตายผ่อนส่งใครเห็นใครลักษณะนี้อยากกินเด็ดขาดกระบวนการผลิต 8 แสนฟองต่อวัน”
ข้อความภาษาอังกฤษบางส่วนในคลิปวิดีโอแปลเป็นภาษาไทยว่า: “โรงงานผลิตไข่ชื่อดัง นี่เห็นอยู่นี่คือไข่หนึ่งร้อยปี หรือที่รู้จักกันอีกชื่อก็คือไข่ศตวรรษ”
คำกล่าวอ้างดังกล่าวถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์ ภายหลังจากที่มีรายงานว่าเกษตรกรในประเทศจ่อขึ้นราคาไข่ไก่จากวัตถุดิบที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงตรุษจีน
ตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์แสดงให้เห็นว่าราคาไข่ไก่ในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565
คลิปวิดีโอเดียวกันถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้าย ๆ กันทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่และนี่ และทางยูทูปที่นี่
อย่างไรก็ตามคลิปวิดีโอดังกล่าวถูกแชร์ในบริบทที่เป็นเท็จ
อาหารจีนและไข่ไก่
ในคลิปวิดีโอที่ทำให้เข้าใจผิดมีตัวอักษรด้านขวาบนซึ่งเขียนว่า “THE FOOD RANGER SHOW”
การค้นหาด้วยคำสำคัญทางกูเกิลพบคลิปวิดีโอนี้ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 ทางเพจเฟซบุ๊กของ The Food Ranger Show ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 18 ล้านคน
คำบรรยายวิดีโอแปลเป็นภาษาไทยว่า “นี่คือวิธีผลิตไข่ศตวรรษ”
ไข่ศตวรรษหรือที่คนไทยนิยมเรียกว่าไข่เยี่ยวม้าจะใช้ไข่เป็ด ไข่ไก่ หรือไข่นกกระทาโดยเคลือบด้วยดินเหนียว เถ้า เกลือ ปูนขาว และเปลือกข้าว และดองไว้เป็นเวลาหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่บนเพจ The Food Ranger Show (ขวา):
Trevor James เจ้าของเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว อธิบายว่าเขาไม่ได้เป็นคนบันทึกคลิปวิดีโอดังกล่าว โดยเป็นคลิปจากโรงงานในประเทศจีนซึ่งต้นฉบับเผยแพร่ทาง Kuaishou สื่อสังคมออนไลน์ในประเทศจีน โดยเป็นคลิปจากบัญชีที่มีชื่อว่า 特产手工变蛋 (ไข่หมักทำมือสูตรพิเศษ) และ 超叔海鸭蛋 (ไข่เป็ดเค็มลุงเชาว์)
James อธิบายกับ AFP เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 ว่า “ไข่ทั้งหมดในคลิปวิดีโอเป็นไข่จริงครับ ไข่ศตวรรษในประเทศจีนไม่ใช่ของแปลกและถือเป็นอาหารจานเด็ดของเขาเลย”
การค้นหาทาง Kuaishou พบคลิปวิดีโอที่ตรงกับโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดถูกเผยแพร่ที่นี่และนี่
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และคลิปวิดีโอจากบัญชี 特产手工变蛋 และ 超叔海鸭蛋 (ขวา):
ไม่มีไข่ปลอมจากจีนในประเทศไทย
กรมปศุสัตว์ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของประเทศไทยปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าว โดยระบุว่าเป็น “ข่าวปลอม”
แถลงการณ์ของกรมปศุสัตว์ที่ถูกเผยแพร่ลงทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 เขียนว่า: “เฟคนิวส์! คลิป ‘ไข่ปลอม’ นำเข้าจากจีน กรมปศุสัตว์ตรวจสอบแล้ว “ไม่เป็นความจริง”
แถลงการณ์ดังกล่าวเขียนต่อว่า: “ช่วงนี้ในโซเชียลอาจเห็นการแชร์ว่ามีไข่เป็ดปลอมผลิตจากโรงงานจีนทะลักเข้ามาไทย สพส ขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง”
“คลิปที่สองเป็นการผลิตไข่เป็ดหลายกรรมวิธีที่มีการใช้เครื่องจักรแล้วอ้างว่าเป็นการผลิตไข่เป็ดปลอม -ตรวจสอบแล้ว ช่วงแรกเป็นกระบวนการผลิต Hundred year old egg หรือ Century egg ที่ภาษาไทยเรียก “ไข่เยี่ยวม้า” นั่นเอง”
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา