ภาพถ่ายสุนัขกู้ภัยจากปี 2562 ถูกแชร์ในบริบทที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นสุนัขกู้ภัยของไทยที่ถูกส่งไปช่วยเหตุแผ่นดินไหวในตุรกี

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 06:26
  • อัพเดตแล้ว วันที่ 19 ธันวาคม 2023 เวลา 10:05
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: Panisa AEMOCHA, AFP ประเทศไทย
ภาพสุนัขตัวหนึ่งกำลังยืนอยู่บนซากปรักหักพังถูกแชร์ในบริบทที่ทำให้เข้าใจผิดหลายหมื่นครั้ง พร้อมรูปสุนัขไทย 2 ตัว ซึ่งถูกส่งไปช่วยกู้ภัยเหตุแผ่นดินตุรกี โดยอ้างว่าเพียงไม่กี่ชั่วโมงที่สุนัขกู้ภัยจากไทยเดินทางไปถึงพื้นที่ “ก็สามารถช่วย [ผู้ประสบภัย] ได้ถึง 10 คน” แม้อีก 2 ภาพ ในโพสต์ดังกล่าวเป็นสุนัขกู้ภัยจากไทยจริง ทว่าภาพแรกนั้นเป็นรูปถ่ายที่ถูกเผยแพร่ในปี 2562 บนเว็บไซต์ขายภาพอย่าง Shutterstock

คำบรรยายภาพจากโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ระบุว่า “สุนัขจากไทย 2 ตัวนี้ ไปถึงแค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น สามารถช่วยชีวิตคนได้ 10 คนแล้ว หล่อมากเลย!!!”

ในโพสต์ซึ่งประกอบไปด้วย 1. รูปสุนัขตัวหนึ่งบนซากปรักหักพัง 2. ภาพสุนัขกู้ภัยจากไทย 2 ตัว พร้อมกับทีมงานและป้าย “Thailand for Türkiye” และ 3.ภาพทีมกู้ภัยของไทยพร้อมกับภาพสุนัขกู้ภัยของไทยที่กำลังนั่งพักขณะเตรียมเดินทางไปยังตุรกี ถูกแชร์ออกไปเกือบ 20,000 ครั้ง บนโลนออนไลน์

เซ็ตภาพเหล่านี้ถูกเผยแพร่ออกไปหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวความรุนแรง 7.8 ริกเตอร์ บริเวณชายแดนประเทศตุรกีและซีเรีย เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นรายและบ้านเรือนเสียหายเป็นจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ในประเทศตุรกีพบผู้เสียชีวิตแล้ว 24,617 ราย ขณะที่ประเทศซีเรียมีรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิต 3,574 ราย สำนักข่าว AFP รายงาน

Image
ภาพถ่ายหน้าจอจากโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

ผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมากเชื่อว่าโพสต์สุนัขที่อยู่บนซากปรักหักพังเป็นหนึ่งในสุนัขตัวเดียวกันที่ถูกส่งไปช่วยเหตุกู้ภัยจากไทย

คอมเมนต์หนึ่งระบุว่า: “เป็นกำลังใจให้หนูทั้งสองนะ ขอให้ทั้ง2กลับเมืองไทยด้วยความปลอดภัยนะลูก ทำหน้าที่ให้เต็มที่”

ขณะที่ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กจำนวนมากคอมเมนต์ในลักษณะชื่นชมว่าสุนัขกู้ภัยของไทย “เก่งมาก”

ภาพถ่ายดังกล่าวถูกเผยแพร่พร้อมคำกล่าวอ้างคล้าย ๆ กันทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่ และทางทวิตเตอร์ที่นี่และนี่ โดยโพสต์อื่น ๆ ถูกแชร์ต่ออีกหลายพันครั้งเช่นเดียวกัน

อีกทั้งยังมีการแชร์ภาพสุนัขบนซากปรักหักพังทั้งที่เหมือนและใกล้เคียงกันในต่างประเทศ ทั้งเกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร ปากีสถาน และอินเดีย ที่นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตามภาพถ่ายสุนัขบนซากปรักหักพังนี้เป็นภาพเก่าที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ขายรูป ไม่ใช่ภาพสุนัขกู้ภัยจากไทยที่เดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในตุรกีในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566

ภาพสุนัขบนซากปรักหักพัง

การค้นหาภาพย้อนหลังบนกูเกิล พบภาพถ่ายดังกล่าวถูกเผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ Shutterstock โดยข้อมูลบนเว็บไซต์ระบุว่าเป็นภาพถ่ายของช่างภาพชาวเช็ก Jaroslav Noska

คำบรรยายภาพดังกล่าวระบุว่า “สุนัขที่กำลังมองหาผู้ประสบภัยในซากปรักหักพังหลังเหตุแผ่นดินไหว”

โดยภาพสุนัขภาพนี้เป็นหนึ่งในอัลบัม “สุนัขกู้ภัย” ของ Noska ซึ่งมีการอัปเดตล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2562

ภาพสุนัขภาพดังกล่าวยังได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์ขายภาพอื่น ๆ เช่นทางเว็บไซต์ Bigstockและ Alamy ซึ่งระบุว่าภาพนี้ถูกถ่ายเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพจากโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) กับภาพถ่ายที่ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ Shutterstock (ขวา):

Image
Image
Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพจากโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) กับภาพถ่ายที่ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ Shutterstock (ขวา)

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบภาพถ่ายเดียวกันซึ่งถูกเผยแพร่ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด โดยกล่าวว่าเป็นภาพจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมือง Izmir ของประเทศตุรกี ในเดือนตุลาคม ปี 2563 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 90 คน

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา