โพสต์ปลอมนำวิดีโอเก่าจากจีนมาอ้างว่าเป็นเหตุการณ์หลังแผ่นดินไหวในประเทศตุรกีและซีเรีย

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 08:47
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คลิปวิดีโอที่แสดงรอยแยกตัวของแผ่นดินเป็นแนวยาวได้ถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์ในหลายประเทศทั่วโลก พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเปลือกโลกแตกเป็นแนวยาวในประเทศตุรกี หลังแผ่นดินไหวรุนแรงในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อย่างไรก็ตาม AFP พบว่าวิดีโอเดียวกันถูกเผยแพร่ใน Douyin หรือติ๊กตอกของประเทศจีนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 นอกจากนี้แล้วภาพถ่ายดาวเทียมภูมิประเทศทางตอนเหนือของจีนในกูเกิลก็ตรงกับคลิปวิดีโอดังกล่าว

คลิปวิดีโอนี้ถูกโพสต์ในทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า: “ข่าวล่าสุด! วิดีโอใหม่ เปลือกโลกแตกเป็นแนวยาว ในจังหวัด Hatay ประเทศตุรกี หลังเกิดแผ่นดินไหว!!??”

คลิปวิดีโอความยาว 8 วินาทีดังกล่าว ซึ่งมียอดรับชมกว่า 2 แสนครั้ง เป็นวิดีโอมุมสูงที่แสดงรอยแยกแนวยาว และมีถนนและสิ่งก่อสร้างอยู่ทั้งสองฝั่ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ทวิตเตอร์ที่ทำให้เข้าใจผิด


เหตุแผ่นดินไหวความรุนแรง 7.8 แมกนิจูด ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศตุรกีและในประเทศซีเรีย เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ คร่าชีวิตผู้คนไป 45,000 ราย

หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวในประเทศตุรกี มีรายงานการพบรอยแยกตัวของแผ่นดินในจังหวัด Kahramanmaras ของประเทศตุรกี ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว

วิดีโอมุมสูงจากเครื่องบินโดรนแสดงภูมิประเทศในย่านชนบทที่พบรอยแยกขนาดใหญ่ ในรายงานของ ITV และ The Guardian

ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ เกิดเหตุแผ่นดินไหวอีกระลอกทางตอนใต้ของตุรกีที่จังหวัด Hatay และทางภาคเหนือของซีเรีย ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย

คลิปวิดีโอความยาว 8 วินาทีดังกล่าวถูกแชร์อย่างต่อเนื่องพร้อมคำกล่าวอ้างคล้าย ๆ กันทางทวิตเตอร์ในภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน และยังถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กในประเทศไทย และทาง VK ในภาษารัสเซีย โดยมียอดรับชมรวมมากกว่า 1 ล้านครั้ง

อย่างไรก็ตาม คลิปวิดีโอดังกล่าวถูกแชร์ในบริบทที่เป็นเท็จ ความจริงแล้วนี่เป็นภาพจากภูมิประเทศทางตอนเหนือในเขตผิ่งลู มณฑลซานซี ในประเทศจีน

วิดีโอถ่ายจากโดรนในประเทศจีน

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล ตามด้วยการค้นหาด้วยคำสำคัญทาง Douyin พบคลิปวิดีโอที่ถูกโพสต์ใน Douyin ที่นี่และนี่ ซึ่งถูกเผยแพร่ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปวิดีโอในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และคลิปวิดีโอจาก Douyin (ขวา):

Image
Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปวิดีโอในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และคลิปวิดีโอจาก Douyin (ขวา)


คลิปวิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่โดยผู้ใช้ Douyin ที่ใช้ชื่อภาษาจีนที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “ภาพถ่ายมุมสูงผิ่งลู” โดยเจ้าของบัญชีอัพโหลดวิดีโอมุมสูงที่ถ่ายจากโดรนที่แสดงถึงภูมิประเทศในพื้นที่หุบเขาของมณฑลชานซีเป็นประจำ

เจ้าของบัญชี Douyin บอกกับ AFP ว่าคลิปวิดีโอของเขาถ่ายในที่ราบสูงดินลมหอบ (Loess Plateau) ที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนกลางของประเทศจีนและครอบคลุมพื้นที่กว่า 400,000 ตารางกิโลเมตร

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปวิดีโอในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจาก globe view ในกูเกิล (ขวา) พร้อมการระบุองค์ประกอบที่ตรงกันโดย AFP:

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปวิดีโอในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจาก globe view ในกูเกิล (ขวา)


รายงานของ Economic Daily หนังสือพิมพ์ภาครัฐในประเทศจีน เขียนอธิบายว่าในเขตผิ่งลูนั้นมีรอยแยกกว่า “สามพันแห่ง” ซึ่งมีสาเหตุจากการกร่อนดิน (Soil erosion)

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา