เจ้าหน้าที่สาธารณสุขปฎิเสธคำกล่าวอ้างเท็จที่ระบุว่าไทยเตรียมยกเลิกวัคซีนไฟเซอร์ หลังข่าวปลอมถูกแชร์ไปทั่วโลก
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2023 เวลา 11:02
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกเผยแพร่ในบทความออนไลน์ของเว็บไซต์ The European Union Times เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566
พาดหัวของบทความดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยว่า: “ประเทศไทยจะยกเลิกไฟเซอร์หลังองค์หญิงของไทยทรงพระประชวรภายหลังฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์”
รายงานดังกล่าวยังระบุต่อว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทย “กำลังเตรียมยกเลิกสัญญากับไฟเซอร์” ภายหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา ฯ ทรงพระประชวรขณะทรงทำการฝึกสุนัขทรงเลี้ยง ณ สนามฝึกกองพันสุนัขทหารจังหวัดนครราชสีมาในเดือนธันวาคม 2565
การคาดการณ์ต่าง ๆ เริ่มถูกแชร์บนโลกออนไลน์ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา ฯ ทรงพระประชวรภายหลังได้รับวัคซีนโควิด ซึ่งเริ่มถูกนำมาแชร์เพิ่มโดยกลุ่มต่อต้านวัคซีน
สำนักพระราชวังเผยแพร่แถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2566 ว่าคณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา สรุปการวินิจฉัยว่า พระองค์ทรงประชวรจากการอักเสบของพระหทัยจากเชื้อไมโคพลาสมา (Mycoplasma)
แถลงการณ์ของสำนักพระราชวังฉบับที่ 3 ระบุว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา ฯ ยังไม่ทรงรู้พระองค์ และยังไม่มีแถลงการณ์เพิ่มเติม ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์
รายงานฉบับนี้นำเสนอบทสัมภาษณ์ของนายแพทย์สุจริต ภักดี ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาชาวไทยในเยอรมนี โดยเขาเคยถูกวิจารณ์จากคำกล่าวอ้างต่อต้านวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ ที่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาหนุน
บทความเดียวกันถูกแชร์อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ และในโพสต์ทางทวิตเตอร์ที่ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 10,000 ครั้ง โดยเพจต่าง ๆ ก็มีคำกล่าวอ้างที่คล้ายคลึงกันออกมาทั้งในภาษาไทยและภาษาจีน ขณะเดียวกัน อดีตนักฟุตบอลอาชีพและนักทฤษฏีสมคบคิดชาวอังกฤษ อย่าง David Icke ก็ออกมาแชร์บทความที่ใกล้เคียงกันทางทวิตเตอร์ โดยบัญชีทวิตเตอร์ของเขามีผู้ติดตามถึง 390,000 คน
รัฐบาลไทยเริ่มการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 โดยได้จัดเตรียมวัคซีนโควิด-19 จากบริษัทยาทั่วโลก ซึ่งรวมไปถึงบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค แอสตร้าเซเนกา และวัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์มจากประเทศจีน ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนได้จัดเตรียมวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นาเพื่อจำหน่ายให้ประชาชน
อย่างไรก็ตามคำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไทยยืนยันกับ AFP ว่าประเทศไทยยังไม่มีแผนปรับนโยบายวัคซีนโควิด-19
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า “เรายังไม่มีแผนที่จะปรับนโยบายวัคซีนนะครับ”
“เรายังคงตั้งเป้าที่จะเตรียมวัคซีนให้พร้อมสำหรับประชาชน โดยมีเป้าหมายเดิมคือให้ฉีดวัคซีนให้ครบบูสเตอร์โดสสองเข็ม”
“ยังไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการเปลี่ยนแปลงวัคซีนจากที่ใช้อยู่นะครับ”
ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 กระทรวงสาธารณสุขเผยแพร่แถลงการณ์ โดยระบุว่าคำกล่าวอ้างเรื่องไทยเตรียมยกเลิกสัญญาของไฟเซอร์เป็น “ข่าวปลอม”
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานอาหารและยาได้ประกาศขยายวันหมดอายุวัคซีนไฟเซอร์บางชุดจากเดิม 9 เดือน ออกไปเป็น 15 เดือนนับตั้งแต่วันผลิตวัคซีน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์จาก Meedan องค์กรที่รับมือกับข้อมูลเท็จด้านสุขภาพ อธิบายว่าวันหมดอายุของวัคซีนสามารถขยายออกไปได้ เพื่อช่วยในการลดวัคซีนเหลือทิ้งและช่วยเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนให้กับประชาชนที่ต้องการ
ผู้เชี่ยวชาญจาก Meedan อธิบายทางอีเมลเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า “วัคซีนป้องกันโควิดของไฟเซอร์ยังคงมีประสิทธิภาพและปลอดภัยหลังวันผลิตถึง 18 เดือน”
AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดอื่น ๆ เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา