ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับอันตรายจากการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี ถูกแชร์ในโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ในไทย

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 31 มีนาคม 2566 เวลา 13:02
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: Panisa AEMOCHA, AFP ประเทศไทย
ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ปฎิเสธคำกล่าวอ้างเท็จในสื่อสังคมออนไลน์ที่เขียนเตือนว่าการรั่วไหลของสารซีเซียม-137 ภายในแท่งเหล็กที่หายไปจากโรงงานผลิตไฟฟ้าในเดือนมีนาคม สามารถลอยไปได้ไกลถึง 1,000 กิโลเมตร และส่งผลกระทบกับไทยทั้งประเทศรวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ผู้เชี่ยวชาญต่างยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ที่อนุภาคจากสารกัมมันตภาพรังสีซีเซียม-137 นี้จะสามารถกระจายตัวไปได้ไกลตามที่เขียนในโพสต์ พร้อมยืนยันว่าเหตุดังกล่าวไม่ได้ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสังคมเป็นวงกว้าง

โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 เขียนเตือนถึงอันตรายจากการหายไปของแท่งบรรจุซีเซียม-137 น้ำหนัก 25 กิโลกรัมจากโรงงานแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 10 มีนาคม โดยเขียนคำบรรยายว่า “ซีเซียม-137 ในจังหวัดปราจีนบุรี หายไปนานมาก ๆ เกือบ 10 วัน”

“บางแหล่งข่าวบอกว่าหายไปตั้งแต่ 23 ก.พ. จนปล่อยให้การถูกหลอม ถ้าเป็นจริงไอของซีเซียมอาจจะลอยไปถึง 1,000 กิโลเมตร ทำลายสิ่งมีชีวิตโดยตรง”

โพสต์ดังกล่าวยังเตือนว่าซีเซียม-137 อาจส่งให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง และต้องใช้เวลาถึง 100 ปี ในการสลายตัว

“ดูจากระยะของพื้นที่ ที่ไอของซีเซียมสามารถลอยไปได้ กินอาณาเขตเกือบทั้งประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน”

โพสต์ดังกล่าวยังแชร์ภาพถ่ายหน้าจอของแผนที่ของกูเกิลที่แสดงพื้นที่โดยรอบจังหวัดปราจีนบุรี และกราฟฟิคไทม์ไลน์การเกิดเหตุจากโพสต์ของบีบีซีไทย

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

ซีเซียม-137 เป็นธาตุกัมมันตภาพรังสี ซึ่งเป็นผลผลิตจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชั่นนิวเคลียร์ (nuclear fission)

เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่แถลงข่าวว่าพวกเขาพบร่องรอยของซีเซียมที่โรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากโรงงานผลิตไฟฟ้าในจังหวัดปราจีนบุรีออกไปราว 10 กิโลเมตร โดยเจ้าหน้าที่คาดว่าเป็นไปได้ที่แท่งบรรจุสารรังสีที่หายไปอาจถูกหลอมที่โรงงานดังกล่าว

ณ วันที่ 31 มีนาคม เจ้าหน้าที่ยังคงตรวจสอบเพื่อหาร่องรอยของแท่งบรรจุซีเซียมดังกล่าว

รณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี แถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 มีนาคมว่า หากแท่งรังสีดังกล่าวถูกหลอมไปแล้ว สารรังสีจะต้องผ่านตัวกรองของระบบกรองอากาศหลายชั้น ในโรงงานหลอมเหล็กแห่งนั้นซึ่งดำเนินการด้วย “ระบบปิด” และทางเจ้าหน้าที่ซึ่งลงตรวจสอบพื้นที่ไม่พบความผิดปกติของระดับรังสีบริเวณภายนอกโรงงานดังกล่าว

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอธิบายเพิ่มว่า ไม่พบความผิดปกติจากการตรวจสุขภาพของพนักงานทั้งหมด 70 คนในโรงงานหลอมเหล็ก

อย่างไรก็ดี ยังมีโพสต์ในโลกออนไลน์จำนวนมาก เช่นที่นี่และนี่ ที่นำเหตุการณ์ดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ในประเทศยูเครน ปี 2529 ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ งานศึกษาจำนวนมากพบว่าการรั่วไหลของสารรังสีซีเซียม-137 ในเชอร์โนบิล ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับหลายประเทศในทวีปยุโรปแม้อยู่ห่างออกไปเป็นระยะทางถึง 1,000 กิโลเมตร

คอมเมนต์บนโลกออนไลน์แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้งานส่วนหนึ่งเชื่อว่าคำกล่าวอ้างที่แชร์นั้นเป็นความจริง ว่าแท่งรังสีที่หายไปในจังหวัดปราจีนบุรีอาจแพร่กระจายออกไปเป็นพันกิโลเมตรได้

ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งเขียนว่า: “นี่มันแย่มาก ไม่มีความรับผิดชอบเลย ฉันรู้สึกไม่ปลอดภัย เป็นกังวลมาก”

ขณะที่อีกคนเขียนว่า “รู้สึกสงงสารตัวเองเพราะอยู่ใกล้ ๆ [ที่เกิดเหตุ]”

“เทียบไม่ได้” กับเชอร์โนบิล

ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ยืนยันกับ AFP ว่า ความเสี่ยงจากแท่งบรรจุซีเซียม-137 ในประเทศไทยไม่ได้รุนแรงตามภาพที่ถูกแชร์ออกไปทางสื่อสังคมออนไลน์

ยุทธนา ตุ้มน้อย รองโฆษกและรักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานปรมณู สำนักงานปรมณูเพื่อสันติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ศึกษาพลังงานนิวเคลียร์ในไทย ให้สัมภาษณ์กับ AFP เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ว่าแท่งบรรจุซีเซียม-137 ซึ่งมีน้ำหนักรวมที่ 25 กิโลกรัม ที่หายไปนั้น “เหมือนเทียบเข็มกับมหาสมุทร” เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับเชอร์โนบิล เนื่องจากปริมาณสารรังสีซีเซียม-137 ที่แตกต่างกันมหาศาล

เขากล่าวว่านักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งได้ออกมาคำนวณปริมาณสารรังสีซีเซียม-137 ในแท่งบรรจุสารรังสีที่หายไป และพบว่ามีปริมาณเพียง 0.0005 กรัม เท่านั้น

ในทางตรงกันข้าม ปริมาณสารรังสีซีเซียม-137 ในเหตุการณ์เชอร์โนบิล มีจำนวนสูงกว่าไทยถึง 53 ล้านเท่า ตามการคำนวณจาก ศ.นานบะ เคนจิ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ จากมหาวิทยาลัยฟุกุชิมะ ในประเทศญี่ปุ่น

กิตติวัฒน์ คำวัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์และนักฟิสิกส์การแพทย์ จากคณะรังสีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในประเทศไทยแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ไปในทิศทางเดียวกัน

“มันเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย มันเป็นไปไม่ได้ที่สารรังสีจะกระจายไป 1,000 กิโลเมตร หรือมีความจำเป็นที่ผู้คนจะต้องย้ายประเทศ” กิตติวัฒน์ กล่าว

ผู้อำนวยการอาวุโส จากสถาบันคลังสมองแห่งหนึ่งในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ว่า ความรุนแรงจากแท่งซีเซียม-137 ที่หายไป ถูกทำให้หน้ากลัวเกินไป

“0.0005 กรัม เป็นปริมาณที่น้อยมาก เป็นไปแทบไม่ได้ที่จะสร้างอันตรายต่อสังคมในวงกว้างได้เลย” รอส เม็ตส์กิน-บริดเจอร์ จาก สถาบันติดตามความเสี่ยงด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Threat Initiative Institute) กล่าวกับ AFP

เขาอธิบายเพิ่มว่า “ต่อให้ในกรณีนี้ที่ซีเซียมทั้งหมดกระจายตัวออกไปสู่สิ่งแวดล้อม มันก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่มันจะลอยไปได้ในระยะทางไกล และมีความเข้มข้นมากพอที่จะสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์”

ยุทธนาอธิบายเพิ่มว่า ในกรณีที่แท่งบรรจุซีเซียม-137 จะถูกหลอมจริง แต่ระบบกรองอากาศของโรงงานหลอมเหล็กมีศักยภาพในการป้องกันไม่ให้ไอของสารรังสีลอยออกไปได้ หมายความว่าหากมีการรั่วไหลจริง ก็จะอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก เนื่องจากสารตั้งต้นนั้นมีปริมาณ “น้อยกว่า 1 กรัมมาก“

ยุทธนาเผยว่าเจ้าหน้าที่ยังคงตรวจสอบและวัดระดับกัมมันตภาพรังสีในรัศมี 10 กิโลเมตร และไม่พบความผิดปกติของระดับรังสีซีเซียม-137 โดยเจ้าหน้าที่จะยังตรวจสอบระดับรังสีต่อเป็นเวลาอีกอย่างน้อย 1 ปี

สำหรับประเด็นคำกล่าวอ้างเท็จที่พูดถึงการย่อยสลายซีเซียมที่ “ต้องใช้ระยะเวลาถึง 100 ปี” ยุทธนา กล่าวว่า สำหรับสารรังสีซีเซียมที่จะย่อยสลายจนแทบไม่ปล่อยรังสีออกมาแล้วต้องใช้เวลาราว ๆ 300 ปี

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา