ภาพเก่าถูกนำมาโยงกับเหตุไฟป่าในปี 2566

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 7 เมษายน 2566 เวลา 14:52
  • อัพเดตแล้ว วันที่ 10 เมษายน 2023 เวลา 05:19
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ภาพถ่าย 6 รูปของไฟป่าตอนกลางคืนได้ถูกแชร์อย่างต่อเนื่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในไทย โดยพยายามนำภาพถ่ายชุดดังกล่าวมาโยงกับเหตุไฟป่าของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2566 อย่างไรก็ตามภาพชุดนี้ไม่เกี่ยวข้องกับไฟป่าในปี 2566 โดยล้วนเป็นภาพที่ถูกเผยแพร่ในรายงานข่าวออนไลน์และในโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่ปี 2564 และปี 2559

ภาพถ่ายชุดนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2566

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า: “เป็นห่วงเพื่อนๆ ที่อาศัยอยู่เชียงใหม่ ค่ะ ไฟไหม้ที่ อ.สะเมิง เชียงใหม่ ลามมาถึงดอยสุเทพแล้ว”

ภาพถ่ายในโพสต์ดังกล่าวเป็นภาพภูเขาลูกหนึ่งที่ถูกไฟเผาในเวลากลางคืน พร้อมกับภาพกราฟฟิกภาษาไทยที่ระบุ 3 พื้นที่ที่มีการประกาศเขตภัยพิบัติไฟป่า ในวันที่ 1 เมษายน 2566

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

ภาพถ่ายชุดเดียวกันถูกแชร์อย่างต่อเนื่องทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่ และถูกแชร์ทางไลน์ที่นี่

ในช่วงปลายเดือนมีนาคม เจ้าหน้าที่จังหวัดนครนายกรายงานว่าพบไฟป่า โดยมีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและทหารกว่าร้อยนายเข้าร่วมปฏิบัติการณ์ควบคุมไฟป่า ที่กินพื้นที่กว่า 800 ตารางกิโลเมตร

ต่อมาในวันที่ 2 เมษายน สื่อท้องถิ่นรายงานว่ามีไฟป่าในพื้นที่ดอยสุเทพในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเจ้าหน้าที่สามารถดับไฟป่าดังกล่าวได้ในเวลา 6 ชั่วโมงต่อมา

นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวกับ AFP ว่าไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่ รุนแรงขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คนในเดือนที่ผ่านมา

“ผมได้ประกาศให้บางพื้นที่ ซึ่งรวมถึงดอยสุเทพ ให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติจากสถานการณ์ไฟป่า” เขากล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับ AFP เมื่อวันที่ 4 เมษายน

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าภาพที่ถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์ เป็นภาพไฟป่าจากปีก่อนๆ

ภาพเก่า

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล ตามด้วยการค้นหาด้วยคำสำคัญ พบ 2 ภาพแรกในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดถูกเผยแพร่ในวิดีโอยูทูปของ TNN Online

ภาพที่ถูกแชร์ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ตรงกับภาพในคลิปวิดีโอยูทูปในช่วงนาทีที่ 1:56 ขณะที่วิดีโอดังกล่าวเขียนว่าเป็นภาพของบัญชีเฟซบุ๊กที่มีชื่อว่า “Phurinat Singthorat

การค้นหาด้วยคำสำคัญ พบบัญชีดังกล่าว พร้อมภาพต้นฉบับในโพสต์เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564

“ดอยที่ไหม้ในภาพของผม กับดอยสุเทพห่างกันเกือบ 40 โลครับ” ภูรันัชย์ อธิบายเพิ่มกับ AFP เมื่อวันที่ 3 เมษายนว่า “ถ่ายที่อำเภอสะเมิงครับ ตอนปี 2564”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ต้นฉบับ

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพต้นฉบับจากโพสต์เฟซบุ๊กในปี 2564 (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพต้นฉบับจากโพสต์เฟซบุ๊กในปี 2564 (ขวา)

โพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดยังแชร์ภาพภูเขาที่ลุกเป็นไฟอีกหลายภาพ

\การค้นหาภาพย้อนหลังพบอีก 2 ภาพจากโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ถูกเผยแพร่ในรายงานฉบับนี้ของข่าวสดออนไลน์ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของรายงานข่าวสดออนไลน์ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564

รายงานดังกล่าวเขียนพาดหัวว่า “ด่วน! ไฟป่าไหม้หนัก แดงฉานบนเขา อ.สะเมิง เชียงใหม่”

จากรายละเอียดในภาพที่ 3 ในรายงานของข่าวสดออนไลน์ AFP สามารถระบุสถานที่ถ่ายภาพดังกล่าวคือเขตอำเภอสะเมิงใต้ ในจังหวัดเชียงใหม่

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพในรายงานของข่าวสดออนไลน์ (ซ้าย) และภาพถ่ายหน้าจอจาก Street View ของกูเกิล (ขวา):

Image
เปรียบเทียบระหว่างภาพในรายงานของข่าวสดออนไลน์ (ซ้าย) และภาพถ่ายหน้าจอจาก Street View ของกูเกิล (ขวา)

การค้นหาย้อนหลังพบภาพที่ตรงกับภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์จำหน่ายภาพ iStock ที่นี่

คำบรรยายภาพแปลเป็นภาษาไทยว่า “การเผาของไฟป่า ไฟป่าตอนกลางคืน ที่เชียงใหม่” โดยภาพดังล่าวถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากเว็บไซต์ iStock ในปี 2559 (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากเว็บไซต์ iStock ในปี 2559 (ขวา)

อีกภาพจากภาพถ่ายชุดดังกล่าวที่ถูกเผยแพร่บน iStock โดยช่างภาพคนเดียวกัน (mack2happy) ปรากฏอยู่บนโพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2559

เจ้าของโพสต์เขียนว่านี่เป็นภาพที่เขาถ่ายใกล้กับศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เชียงใหม่ โดยเป็นมุมที่มองไปหาไฟป่าบนดอยสุเทพ

การค้นหาภาพย้อนหลังพบภาพที่ 6 จากโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิดถูกเผยแพร่ในรายงานออนไลน์ฉบับนี้ของข่าวสดอิงลิช และในโพสต์ทางทวิตเตอร์เกี่ยวกับไฟป่าที่จังหวัดเชียงใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2559

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของรายงานข่าวสดอิงลิช ที่ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2559

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา