ผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยแชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับ XBB สายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 21 เมษายน 2566 เวลา 09:40
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายน ปี 2566 ผู้ใช้เฟซบุ๊กในประเทศไทยจำนวนมากได้แชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับอาการของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB ที่กล่าวเตือนว่า “เป็นพิษมากกว่าเดลต้าถึง 5 เท่า” และมีอาการป่วย “อันตรายถึงชีวิต” อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ยืนยันกับ AFP ว่าไม่มีหลักฐานว่าสายพันธุ์ย่อย XBB นั้นจะ “รุนแรงกว่าเดลต้า 5 เท่า” และอธิบายว่า XBB ยังถือเป็นสายพันธุ์ย่อยที่ “ต้องเฝ้าระวัง” จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก

คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดดังกล่าวถูกแชร์โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กจากประเทศไทยที่นี่ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566

คำบรรยายโพสต์บางส่วนเขียนว่า “ข่าวสิงคโปร์: ทุกคนควรสวมหน้ากาก เนื่องจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของ COVID-Omicron XBB นั้นแตกต่าง อันตรายถึงชีวิต และไม่สามารถตรวจพบได้ง่าย:- อาการของไวรัส XBB มีดังนี้:

“ 1. ไม่มีอาการไอ 2. ไม่มีไข้ จะมีเพียง:

“ 3. ปวดข้อ 4. ปวดศีรษะ 5. ปวดคอ 6. ปวดหลังส่วนบน 7. โรคปอดบวม 8. เบื่ออาหารทั่วไป

“ XBB เป็นพิษมากกว่าเดลต้าถึง 5 เท่าและมีอัตราการตายที่สูงกว่า

“ไม่พบไวรัสสายพันธุ์นี้ในบริเวณโพรงหลังจมูก และส่งผลกระทบโดยตรงต่อปอดหรือ "หน้าต่าง" ในระยะเวลาอันสั้น การทดสอบ Nasal swab โดยทั่วไปให้ผลลบสำหรับ COVID-Omicron XBB และกรณีการทดสอบ Nasopharyngeal ที่เป็นลบที่ผิดพลาดกำลังเพิ่มขึ้น

“จะใช้เวลาสั้นกว่าอาการจะรุนแรงถึงขีดสุด และบางครั้งก็ไม่มีอาการชัดเจน”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

ในเดือนตุลาคม ปี 2565 ประเทศสิงคโปร์รายงานตัวเลขผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น โดยระบุสาเหตุว่ามาจากการแพร่ระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB

“ในประเทศสิงคโปร์ตอนนี้ XBB เป็นสายพันธุ์ย่อยที่กำลังระบาดในชุมชน โดยคิดเป็นสัดส่วน 54% ของการติดเชื้อทั้งหมดในช่วงวันที่ 3-9 ตุลาคม ซึ่งเพิ่มขึ้นมาจาก 22% ในอาทิตย์ก่อน” กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2565

ผู้ใช้เฟซบุ๊กจากหลายประเทศเช่นมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เมียนมา อินเดีย และสหรัฐอเมริกา แชร์คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันที่ระบุว่าสายพันธุ์ย่อย XBB มีความ “รุนแรงกว่าถึง 5 เท่า” และมี “อัตราการตายที่สูงกว่า” เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลต้า

นอกจากในประเทศไทยแล้ว ยังพบคำกล่าวอ้างเดียวกันถูกแชร์มาก่อนในภาษาอินโดนีเซียและจีน

“ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด”

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในตอนนี้พบการระบาดของโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 ใน 34 ประเทศทั่วโลก แต่ก็ยังไม่พบลักษณะอาการของโควิดสายพันธุ์ที่แน่ชัดว่าแตกต่างจากสายพันธุ์เดิมเท่าไรนัก

ธีระกล่าวว่า ในขณะนี้ “ยังไม่พบข้อมูลที่ชัดเจน แม้แต่ในประเทศอินเดียที่การแพร่ระบาดของสายพันธุ์ XBB เพิ่มขึ้น ก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเสียชีวิตที่เห็นได้ชัด”

ส่วนข้อมูลที่อ้างว่าการตรวจด้วยชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (ATK) ทางจมูกนั้นไม่สามารถตรวจพบไวรัสสายพันธุ์ XBB ได้เนื่องจาก “ไม่พบไวรัสสายพันธุ์นี้ในบริเวณโพรงหลังจมูก” ธีระได้ยืนยันกับ AFP ว่า “ไม่จริง”

ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์จีโนมทางการแพทย์ระบุเช่นกันว่าโควิดสายพันธ์ุย่อย XBB ไม่ได้ทำให้ผู้ติดเชื้อมีความเสี่ยงต่อชีวิตที่เพิ่มขึ้น หรือมีอาการป่วยที่รุนแรงไปกว่าเดลต้าและโอมิครอน

ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้สัมภาษณ์กับ AFP ว่าโควิดสายพันธ์ตระกูล XBB ไม่ได้ทำให้มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงไปกว่าการติดเชื้อจากสายพันธุ์เดลต้าหรือโอมิครอน

ในส่วนของอัตราการเสียชีวิต วสันต์กล่าวว่า “ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า XBB รุนแรงกว่าเดิมหรือไม่”

ส่วนคำกล่าวอ้างที่ว่า XBB ตรวจจับได้ยากนั้น วสันต์กล่าวว่า “ATK เป็นชุดตรวจที่ตรวจโปรตีน เพราะฉะนั้นไม่มีปัญหา ยังสามารถตรวจได้อยู่และตรวจได้ดี”

“องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าสายพันธุ์ XBB เป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง เราก็เฝ้าระวังกันต่อไป” วสันต์กล่าว

กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ (MOH) ได้ออกมาปฏิเสธคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย XBB

แถลงการณ์เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 แปลเป็นภาษาไทยว่า “ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุว่ XBB ทำให้มีอาการป่วยที่รุนแรงกว่าเดิม จนถึงตอนนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการน้อย เช่น เจ็บคอหรือไข้อ่อนๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนมาแล้ว”

“ทางกระทรวงพบว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ไม่ได้เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา”

ทางด้านกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้เผยแพร่แถลงการณ์ทางเพจเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566 โดยปฏิเสธคำกล่าวอ้างในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นข่าวปลอม

Image
ภาพถ่ายหน้าจอโพสต์เฟซบุ๊กของเพจกรมควบคุมโรค

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา