วิดีโอบรรเลงเพลงต้านเผด็จการถูกนำกลับมาเผยแพร่ออนไลน์ก่อนหน้าการเลือกตั้ง
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 12 พฤษภาคม 2023 เวลา 07:34
- อัพเดตแล้ว วันที่ 12 พฤษภาคม 2023 เวลา 08:25
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Panisa AEMOCHA, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำบรรยายของโพสต์ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 เขียนว่า “เพื่อนส่งมา เห็นแล้วตกใจขวัญผวา บ้านเมืองมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”
“ทำไมเยาวชนถึงถูกชักจูงให้หลงผิดได้ถึงขนาดนี้ และวงดนตรีใหญ่มาก ในห้องประชุมใหญ่มาก ทางการไม่มีใครรู้เรื่องได้อย่างไร”
วิดีโอดังกล่าวแสดงการบรรเลงออร์เคสตราและการขับร้องเพลง "เลือดต้องล้างด้วยเลือด" ซึ่งประพันธ์โดย จิตร ภูมิศักดิ์ โดยเป็นเพลงที่มีเนื้อร้องสะท้อนการต่อต้านเผด็จการ
ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม โดยจะเป็นการต่อสู้ระหว่างการรักษาอำนาจของฝ่ายกองทัพกับฝ่ายค้านที่สะท้อนเสียงของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
นี่เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกนับตั้งแต่มีการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2563 หนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญคือการกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ซึ่งเข้ามาสู่ตำแหน่งผ่านการรัฐประหารในปี 2557 ลาออก
โพสต์เฟซบุ๊กนี้เตือนว่าประเทศไทย “จะลุกเป็นไฟเพราะคนกลุ่มนี้ ถ้าไม่รีบสลายไปให้ทันการณ์”
เพลงของจิตรมักถูกนำมาร้องอยู่บ่อยครั้งในการประท้วงของไทย "แสงดาวแห่งศรัทธา" กลายเป็นเพลงสำคัญที่ถูกเปิดในการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในปี 2563 (ลิงค์บันทึก)
แม้แต่ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อานนท์ นําภา หนึ่งในผู้นำการประท้วงของคนรุ่นใหม่ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ว่าการเคลื่อนไหวนั้นได้รับ “แรงบันดาลใจ” จากจุดยืนทางการเมืองของจิตร (ลิงค์บันทึก)
อานนท์ ยังกล่าวในอีกสุนทรพจน์ต่อหน้ามวลชนในปี 2563 ว่า ประชาชน “ได้รับไม้ต่อ” จากจิตร เพื่อต่อสู้ให้ได้มาสิ่งสิทธิและเสรีภาพ (ลิงค์บันทึก)
วิดีโอดังกล่าวถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันที่นี่ นี่และนี่ โดยมีผู้ใช้งานส่วนหนึ่งกังวลว่าการแสดงดังกล่าวอาจนำไปสู่การก่อความไม่สงบรอบใหม่ได้
ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งระบุว่า “จะเป็นคอนเสิร์ตที่ไหนก็ช่าง ถ้าถึงขนาดมีการแต่งคำร้องและร้องกันขนาดนี้ มันก็ไม่ไหวแล้วครับ มันบ่งบอกว่ามันเอาจริงแน่ น่าห่วงมากครับ”
ขณะที่อีกคนเขียนว่า “เด็กรุ่นใหม่ถูกล้างสมอง และถูกปลูกฝังเมล็ดแห่งความเกลียดชังต่อสถาบันฯ ความรุนแรงต่อสถาบันเพิ่มมากขึ้น”
วิดีโอคอนเสิร์ตเก่า
การค้นหาภาพย้อนหลังและการค้นหาด้วยคำสำคัญ พบคลิปวิดีโอยูทูปการแสดงเดียวกันที่ถูกเผยแพร่ในปี 2553
ตามคำบรรยายของวิดีโอระบุว่านี่เป็นการแสดงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2553 ณ ห้องออดิทอเรียม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ลิงค์บันทึก)
ด่านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เฟซบุ๊กทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากคลิปวิดีโอจากบัญชียูทูป (ขวา):
นอกจากนี้ บัญชียูทูปดังกล่าวยังโพสต์คลิปวิดีโอจากคอนเสิร์ตเดียวกันอีกกว่า 12 คลิป
ตามคำประกาศโฆษณาคอนเสิร์ตบนเว็บไซต์ประชาไทย ระบุว่างานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงการครบรอบ 80 ปี ของจิตร (ลิงค์บันทึก)
ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และหนึ่งในผู้ร่วมจัดงานดังกล่าว ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ว่า วิดีโอดังกล่าวเป็นคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นในปี 2552
AFP ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งของไทยที่นี่และนี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา