คลิปวิดีโอไม่ได้แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่กาบัตรเลือกตั้งกันเอง กลุ่มสังเกตการณ์การเลือกตั้งไทยกล่าว

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 19 พฤษภาคม 2023 เวลา 11:22
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ช่วงก่อนการเลือกตั้งในประเทศไทย มีผู้แชร์คลิปวิดีโอหลายพันครั้ง โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งกำลังทำเครื่องหมายกากบาทลงในบัตรเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ภาพจากกล้องวงจรปิดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่กำลังลงลายมือชื่อบนหน้าปกเล่มบัตรเลือกตั้ง ไม่ได้กาคะแนนลงในบัตรเลือกตั้ง กลุ่มสังเกตุการณ์การเลือกตั้ง We Watch และคณะกรรมมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าว

“เจ้าหน้าที่กกต . โกงสนั่น กาแบบดุดันไม่เกรงใจใครเลยจร้าาา ช่วยด้วย ช่วยเผยแพร่คลิปนี้ ให้ถึงฝ่ายประชาธิปไตย” คำบรรยายของโพสต์เฟซบุ๊กเขียนไว้เป็นภาษาไทยเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566

“ทุกคนรับคำสั่งใครมา ประชาชนเห็นนะ” คำบรรยายเขียนต่อ

วิดีโอความยาว 19 วินาทีได้แสดงให้เห็นเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งกำลังปฏิบัติงานอยู่ในห้องที่เต็มไปด้วยกล่องและกระดาษ

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

พรรคก้าวไกลได้ประกาศชัยชนะเลือกตั้งหลังจากประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ประชาชนไทยไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากเป็นประวัติการณ์หลังประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของนายกรัฐมนตรีและผู้นำรัฐประหาร ประยุทธ์ จันทร์โอชา มานานเกือบทศวรรษ (ลิงค์บันทึก)

วิดีโอและคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดคล้ายๆ กันนี้ถูกแชร์หลายครั้งทางสื่อสังคมออนไลน์ในไทย เช่น ทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่

นอกจากนี้ ยังพบคำกล่าวอ้างดังกล่าวในช่องทาง TikTok ที่นี่ นี่และนี่

ไม่ได้กาบัตรเลือกตั้ง

ก่อนจะมีการเลือกตั้งล่วงหน้า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ประกาศว่า กรุงเทพมหานครได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อตรวจดูหีบบัตรของแต่ละหน่วยเลือกตั้ง และเปิดลิงค์ให้ประชาชนสามารถเข้ามาติดตามได้ (ลิงค์บันทึก)

คลิปวิดีโอที่เผยแพร่ทางออนไลน์นั้นตรงกับภาพถ่ายหน้าจอในรายงานข่าวของสำนักข่าวไทยรัฐ (ลิงค์บันทึก)

ช่วงเวลาตรงมุมบนซ้ายของกล้องวงจรปิดชี้ว่า ภาพถ่ายจากหน้าจอนั้นถูกบันทึกเวลา 19.16 น.วันที่ 10 พฤษภาคม ดังที่แสดงไว้ในภาพด้านล่าง:

Image
เปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอจากคลิปวิดีโอในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายหน้าจอจากรายงานข่าวของสำนักข่าวไทยรัฐ (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายวงกลมเอาไว้

หลังเกิดการเข้าใจผิดดังกล่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กกต.ได้ชี้แจงว่า ภาพและคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่นั้นเป็นการลงลายมือชื่อบนหน้าปกเล่มบัตรเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานตามปกติของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง (ลิงค์บันทึก)

“กกต. ขอเรียนชี้แจงว่า ภาพข่าวและคลิปวิดีโอที่นำมาเผยแพร่เป็นการลงนามหน้าปกเล่มบัตรเลือกตั้งก่อนส่งมอบให้กับ กปน.” กกต.ชี้แจง

“ขอยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำเครื่องหมายกากบาทลงในบัตรเลือกตั้งแทนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น”

พงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน ผู้อำนวยการของเครือข่ายสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศไทย (We Watch) กล่าวกับ AFP ว่าหลังจากการตรวจสอบแล้ว ภาพที่ปรากฏในคลิปวิดีโอนั้นเป็นหน้าปกเล่มบัตรเลือกตั้งจริง (ลิงค์บันทึก)

“เจ้าหน้าที่ในวอร์รูมของเราได้ตรวจสอบคลิปวิดีโอดังกล่าวแล้ว” พงษ์ศักดิ์กล่าว “เราสามารถยืนยันได้ครับว่า เป็นขั้นตอนการเซ็นชื่อเจ้าหน้าที่ลงบนหน้าปกเล่มบัตรเลือกตั้งจริง”

คู่มือปฏิบัติงานสำหรับคณะกรรมการการเลือกตั้ง หน้า 10 ได้แสดงภาพตัวอย่างของหน้าปกเล่มบัตรเลือกตั้ง (ลิงค์บันทึก)

คู่มือปฏิบัติงานเขียนอธิบายว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบว่าถูกต้องและครบถ้วนแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องลงลายมือชื่อบนหน้าปกเล่มบัตรเลือกตั้งทุกเล่ม

ภาพด้านล่างแสดงให้เห็นตัวอย่างของหน้าปกเล่มบัตรเลือกตั้ง ซึ่งถูกเผยแพร่เป็นตัวอย่างไว้ในเพจเฟซบุ๊กเพจสถานทูตไทยในประเทศอังกฤษ (ลิงค์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายของหน้าปกเล่มบัตรเลือกตั้งที่ถูกเผยแพร่เป็นตัวอย่างในโพสต์ของเพจเฟซบุ๊กสถานทูตไทยในประเทศอังกฤษ

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอจากคลิปวิดีโอที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายของเอกสารแบบเดียวกันที่ระบุไว้ในคู่มือปฏิบัติงานของคณะกรรมการเลือกตั้ง (ขวา):

Image
เปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอจากคลิปวิดีโอที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายของเอกสารแบบเดียวกันที่ระบุไว้ในคู่มือปฏิบัติงานของคณะกรรมการเลือกตั้ง (ขวา)

นอกจากนี้ คู่มือปฏิบัติงาน หน้า 64 ยังระบุเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินงานที่เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งต้องปฏิบัติตาม

“(๑.๑) บัตรเลือกตั้ง ให้ตรวจสอบเล่มที่ เลขที่ จำนวนบัตร และการประทับตราบนบัตรเลือกตั้งทุกบัตร แล้วลงลายมือชื่อผู้รับมอบบัตรเลือกตั้งไว้เป็นหลักฐาน ที่หน้าปกบัตรเลือกตั้งทุกเล่ม” คู่มือปฏิบัติงานระบุไว้ในหน้า 64

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา