โพสต์โจมตีผู้สมัครส.ส.พรรคก้าวไกลด้วยการแชร์ภาพถ่ายนางแบบหญิงใส่ชุดชั้นในสีส้ม

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 เวลา 11:55
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
ภาพถ่ายของผู้หญิงใส่ชุดชั้นในสีส้มถูกเผยแพร่พร้อมคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดว่า เป็นภาพถ่ายของรักชนก ศรีนอก ผู้สมัครส.ส.พรรคก้าวไกลวัย 28 ปี ด้านรักชนกชี้แจงว่าภาพดังกล่าวไม่ใช่ภาพของตน และได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ สถานีตำรวจบางขุนเทียนเรียบร้อยแล้ว

“คุณภาพผู้สมัครส.ส.พรรคก้าวไกลคนนี้อยากโชว์มากเลยแชร์ขยายผลให้” คำบรรยายในโพสต์ในเฟซบุ๊กระบุเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566

“โสเภณีบางคนยังไม่กล้าถ่ายภาพระดับนี้ ขอบอกว่าใจถึงจริงๆ” โพสต์ดังกล่าวระบุต่อ โดยแชร์ภาพของรักชนก ศรีนอกที่ใช้การหาเสียง 1 รูป และรูปผู้หญิงใส่ชุดชั้นในสีส้ม 2 รูป

สีส้มเป็นสีของพรรคก้าวไกล ส่วนโลโก้ประจำพรรคซึ่งมีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยมสีส้มนั้นก็ปรากฏอยู่ในภาพเช่นกัน (ลิงค์บันทึก)

โพสต์ดังกล่าวปรากฏขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนหน้าที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการแข่งขันกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ และกลุ่มของพรรคฝ่ายค้านที่ต้องการผลักดันการปฏิรูปเชิงโครงสร้างในประเทศ

หลังจากวันเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลได้ประกาศชัยชนะหลังจากได้รับคะแนนจากประชาชนอย่างล้มหลาม ในวันเลือกตั้งพบว่ามีประชาชนไทยไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากเป็นประวัติการณ์ หลังประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของนายกรัฐมนตรีและผู้นำรัฐประหาร ประยุทธ์ จันทร์โอชา มานานเกือบทศวรรษ

สื่อไทยรายงานว่า รักชนกชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น (ลิงค์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

นอกจากนี้ ยังพบภาพและคำกล่าวอ้างดังกล่าวปรากฏในโพสต์เฟซบุ๊กอื่นๆ เช่น ที่นี่ นี่และนี่ และถูกแชร์ทางแชทแอปพลิเคชั่น Line อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้ระบุในช่องแสดงความคิดเห็นว่า ภาพถ่ายผู้หญิงใส่ชุดชั้นในนั้น เป็นภาพของวารุณี พูนสิน หรือ “ยูจิน” ซึ่งเป็นนางแบบหญิงที่มีผู้ติดตามในเพจเฟซบุ๊กมากกว่า 165,000 บัญชี ไม่ใช่ภาพถ่ายของรักชนกแต่อย่างใด

จากการค้นหาในเฟซบุ๊ก พบว่าวารุณีได้โพสต์รูปดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พร้อมคำบรรยายว่า “ฉันเกิดในรัฐบาล ๙ ไกล” (ลิงค์บันทึก)

โพสต์ดังกล่าวถูกกดไลค์กว่า 27,000 ครั้งและมียอดแชร์เกือบ 10,000 ครั้ง

“ผู้หญิงใส่บราสีส้มคือรูปยูจินเอง ยืนยันว่าคนละคนกันค่ะ และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรใดๆ กันกับคุณไอซ์ รักชนก” วรุณียืนยันกับ AFP

“มีมือดีได้นำรูปคุณไอซ์และรูปยูจิน ไปบิดเบือน ปั่นกระแสโยงการเมือง และได้ใช้คำพูดหยาบคาย ดูถูกผู้หญิง ทำให้กลายเป็นไวรัลในทันที” วรุณีกล่าวต่อ

“หลังจากนั้นรูปก็ถูกแชร์ไปวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาในทางที่ผิดและเสียหาย ทำให้ทางเราเสียหายทั้งภาพลักษณ์และชื่อเสียง”

ในขณะเดียวกัน รักชนกก็ได้ออกมายืนยันเช่นเดียวกันว่าโพสต์ดังกล่าวเป็นโพสต์เท็จ โดยได้เขียนในโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมว่า “ไอซ์ขอยืนยันว่าบุคคลในภาพไม่ใช่ไอซ์ รักชนก

ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหยุดส่งต่อข่าวปลอม ขอให้ทุกคนรักษาบรรยากาศการเมืองสร้างสรรค์ อย่าใช้วิธีเล่นสกปรกสร้างข่าวปลอมบิดเบือนใส่ร้ายคู่แข่ง” (ลิงค์บันทึก)

ต่อมาในวันเดียวกันนั้นเอง รักชนกได้โพสต์ในเฟซบุ๊กว่าตนได้เข้าแจ้งความกรณีข้อมูลเท็จดังกล่าว (ลิงค์บันทึก) โดยในโพสต์ยังประกอบไปด้วยรูปของรักชนกที่สถานีตำรวจบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร

พ.ต.อ.พายัพ สมบูรณ์ ผู้กำกับการสน.บางขุนเทียนกล่าวกับ AFP ว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งความร้องทุกข์จากรักชนก และจะดำเนินการตรวจสอบต่อไป

“ผู้สมัครส.ส.พรรคก้าวไกลคนดังกล่าวได้เข้ามาแจ้งความกับเราไม่กี่วันก่อนวันเลือกตั้ง โดยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้ลงบันทึกประจำวัน และจะดำเนินการตรวจสอบต่อไป” พายัพกล่าว

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา