หัวหน้าพรรคก้าวไกลถูกกล่าวอ้างอย่างผิดๆ ว่า “ไม่ได้จบจากฮาร์วาร์ด”

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 เวลา 08:45
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: Panisa AEMOCHA, AFP ประเทศไทย
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยืนยันว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยจริง ภายหลังจากที่คำกล่าวอ้างเท็จถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ในไทยหลายร้อยครั้ง โดยคำกล่าวอ้างเท็จนี้ถูกแชร์ออกไปไม่นานหลังพรรคก้าวไกลประกาศชัยชนะศึกเลือกตั้ง และสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับกลุ่มอำนาจที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ จากชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ในเดือนพฤษภาคม

คำบรรยายโพสต์เฟซบุ๊กที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 เขียรว่า “สรุปว่าพิธาไม่ได้จบมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่เป็นโรงเรียนชื่อฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ ทำไมไม่พูดแต่แรกให้เคลียร์ว่า ไม่ได้จบมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด”

โพสต์ดังกล่าวยังระบุอย่างผิดๆ ว่า วิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ (HKS) ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์หลังจากที่สื่อท้องถิ่นรายงานว่ามีสมาชิกคนหนึ่งของพรรคพลังประชารัฐซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทหารที่เข้ามารัฐประหารประเทศในปี 2557 ตั้งข้อสงสัยว่าพิธาอาจไม่ได้จบจากมหาวิทยาลัยอเมริกันชื่อดังจริง

ชัยชนะของพรรคก้าวไกลในพฤษภาคม เป็นปรากฏการณ์ที่เหนือความคาดหมายในสายตาของประชาชนและผู้สังเกตการณ์ หลังการเลือกตั้งที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์สูงเป็นประวัติการณ์และผลการเลือกตั้งที่นับเป็นความพ่ายแพ้ของพรรคที่มีความเกี่ยวข้องกับฝ่ายกองทัพ

พิธากล่าวเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ว่าเขามั่นใจที่จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย แม้เขายังต้องผ่านด่านการเสนอชื่อนายกฯ ที่มีเสียงจากสมาชิกวุฒิสภาที่มีกองทัพสนับสนุนอยู่ รวมไปถึงจุดยืนของพรรคเรื่องการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ด้วย AFP รายงาน

Image
ภาพถ่ายหน้าจอโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

โพสต์ที่มีคำกล่าวอ้างใจความใกล้เคียงกันเกี่ยวกับประวัติการศึกษาของนายพิธาซึ่งถูกแชร์มากกว่า 300 ครั้งบนเฟซบุ๊กยังถูกแชร์ที่นี่ นี่และนี่

คอมเมนต์ใต้โพสต์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นความจริง

คอมเมนต์หนึ่งระบุว่า “เป็นคนที่ปลอมไปหมด”

ขณะที่อีกคนเขียนว่า “มันเคยอ้างว่าจบจากฮาร์วาร์ดระหว่างเลือกตั้งไหม ถ้าเคย นี่โดนเรื่องโกงเลยนะ”

จิม มีแฮน เจ้าหน้าที่ทะเบียนจากวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ ตอบ AFP ทางอีเมลเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ว่า “ฝั่งทะเบียนแห่ง HKS ยืนยันว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ลงทะเบียนเรียนเต็มเวลาในระดับรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ที่วิทยาลัยการปกครองจอห์น เอฟ เคนเนดี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด”

“เขาเริ่มการศึกษาในเดือนกันยายน 2551 และสำเร็จการศึกษารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตในวันที่ 26 พฤษภาคม 2554”

ข้อเท็จจริงนั้น ตรงกันข้ามกับคำกล่าวอ้างในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด เพราะจากข้อมูลทางการของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด HKS เป็นหนึ่งใน 11 วิทยาลัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด วิทยาเขตเคมบริดจ์

คริสเตียน คีเทลส์ หนึ่งในอาจารย์จากโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด (HBS) กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ลงเรียนในวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคเพื่อการแข่งขัน ซึ่งเป็นวิชาที่สอนโดยโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด ในปี 2554 วิชาดังกล่าวเป็นการเรียนควบทั้งกับ HBS และวิทยาลัยปกครองเคนเนดี้”

“คุณลิ้มเจริญรัตน์ลงเรียนในวิชานี้ในฐานะนักเรียนจากวิทยาลัยเคนเนดี้ เขาเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ศึกษาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย”

รายงานประเด็นอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่พิธาร่วมเขียนนั้นถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ของโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด (ลิงค์บันทึก)

AFP ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวปลอมระหว่างการเลือกตั้งปี 2566 ของไทยที่นี่และนี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา