โพสต์ปลอมโจมตี ส.ส. จากพรรคก้าวไกลว่า ‘ปัสสาวะในที่สาธารณะ’

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 เวลา 07:58
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: Panisa AEMOCHA, AFP ประเทศไทย
วิดีโดที่เผยให้เห็นภาพบุคคลกำลังปัสสาวะหน้าสถานีตำรวจได้ถูกแชร์อย่างต่อเนื่องในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊กและทางแอปพลิเคชัน 'ไลน์' พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าบุคคลในคลิปคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากพรรคก้าวไกล โดยโพสต์เหล่านี้ถูกเผยแพร่หลังจากพรรคก้าวไกลประกาศชัยชนะศึกเลือกตั้ง และส่งผลให้เกิดสะเทือนในกลุ่มผู้มีอำนาจจากฝั่งกองทัพ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ยืนยันว่าบุคคลในวิดีโอดังกล่าวไม่ใช่สิริลภัส กองตระการ นักแสดงหญิงที่ผันตัวมาเล่นการเมือง

โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2566 ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอความยาว 48 วินาที พร้อมคำบรรยายว่า: “ฉี่ โชว์ใส่ Social เขต 9 กทม. ตัวจริงเสียงจริงผู้แทนของ ปชช. นี้คนที่จะเป็น สส.หรือ หน้า สน.ลุมพินี”

“ส.ส. กทม. เขต 9” หมายถึง สิริลภัส กองตระการ สมาชิกของพรรคก้าวไกลผู้ผันตัวจากการเป็นนักแสดงมาเล่นการเมือง โดยเธอจับฉลากได้หมายเลข 9 ขณะลงสมัครรับเลือกตั้งที่เขต 14 ของกรุงเทพฯ ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม สิริลภัสชนะการเลือกตั้ง ส.ส.แบบเขต ในเขตวังทองหลางและบางกะปิ (ลิงค์บันทึก)

วิดีโอดังกล่าวเผยให้ภาพของบุคคลหนึ่งกำลังนั่งปัสสาวะอยู่ นอกจากนี้ ในช่วงวินาทีที่ 22คลิปวิดีโอยังเผยให้เห็นป้ายของสถานีตำรวจลุมพินี ในกรุงเทพมหานคร

โพสต์เหล่านี้ปรากฎขึ้นหลังจากพรรคในกลุ่มเสรีนิยมอย่างพรรคก้าวไกลประกาศชัยชนะการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ และทำให้เหล่านักการเมืองที่มีกองทัพสนับสนุนต้องพ่ายแพ้ โดยขณะนี้ พรรคก้าวไกลกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับอดีตพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ โดยพรรคก้าวไกลได้จับมือกับอีก 7 พรรคการเมืองเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตามรายงานข่าวจาก AFP (ลิงค์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

นอกจากนี้ ยังพบวิดีโอดังกล่าวถูกแชร์คู่กับภาพของสิริลภัส และโพสต์เท็จอื่นๆ ที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันที่นี่ นี่และนี่

คำกล่าวอ้างเท็จนี้ยังถูกเผยแพร่ในแอปพลิเคชันสนทนา ‘ไลน์’ ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศไทย ด้านล่างนี้คือภาพบันทึกหน้าจอของข้อความเท็จ:

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของข้อความเท็จที่ถูกเผยแพร่ทางไลน์

ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์จำนวนหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นที่สะท้อนให้เห็นว่าเชื่อคำกล่าวอ้างเท็จนี้

ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กคนหนึ่งระบุว่า “ร้องไห้หนักมาก สงสารประเทศไทยค่ะ”

ขณะที่อีกความคิดเห็นระบุว่า: “แสดงให้เห็น คุณภาพของคนที่สนับสนุน พรรคก้าวไกล เพราะสภาพเข้ากันได้อย่างดี”

อย่างไรก็ดี สิริลภัสได้ทวีตข้อความทางทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม โดยเธอยืนยันว่าข้อความเหล่านี้เป็นข่าวปลอม และเรียกร้องให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ส่งหลักฐานเพิ่มเติมให้กับเธอ (ลิงค์บันทึก)

“ขอรวบรวมข้อมูลส่งทางทนายไว้นะคะ” เธอเขียนบนทวิตเตอร์

เมื่อตรวจสอบบัญชีโซเชียลมีเดียอย่างเป็นทางการของสิริลภัส ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมทวิตเตอร์ติ๊กต็อก และยูทูป แล้วพบว่าสิริลภัสไม่เคยโพสต์วิดีโอที่แสดงให้เห็นว่าเธอมีพฤติกรรมดังกล่าว (ลิงค์บันทึกนี่ นี่ นี่ นี่และนี่)

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ยืนยันกับ AFP ว่าบุคคลในวิดีโอไม่ใช่ สิริลภัส

‘คนเมา’

“นั่นไม่ใช่ สส.จากก้าวไกล” นิมิตร นูโพนทอง ผู้กำกับการสถานีตำรวจลุมพินี กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม

นิมิตรอธิบายเพิ่มว่าบุคคลดังกล่าวถูกจับกุมตัวจากข้อหาประพฤติวุ่นวายหรือครองสติไม่ได้ขณะอยู่ในถนนสาธารณะ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับการแจ้งร้องเรียน เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม บริเวณโรงแรมโอกุระ เพรสทีจ

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงโทรศัพท์เรียกเพื่อนของบุคคลดังกล่าวเพื่อนำตัวบุคคลนั้นกลับบ้าน ทว่าบุคคลดังกล่าวกลับปัสสาวะบริเวณหน้าสถานีตำรวจและโพสต์คลิปดังกล่าวบนสื่อสังคมออนไลน์

ภายหลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสืบทราบที่อยู่และเชิญตัวบุคคลนั้นกลับมาที่สถานีตำรวจ ก่อนจะดำเนินการส่งฟ้องต่อศาล

“กระบวนการทางกฎหมายเสร็จสิ้นหมดแล้ว” นิมิตรกล่าว

การค้นหาภาพย้อนหลังโดยกูเกิลและการค้นหาด้วยคำสำคัญได้พบวิดีโอเดียวกันนี้ พร้อมกับวิดีโอจากอีกมุมถูกโพสต์ลงบนเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ซึ่งเป็นระยะมากกว่าหนึ่งสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งของประเทศไทย

สำนักข่าวท้องถิ่นอย่าง Sanook ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่นี่ (ลิงค์บันทึก)

AFP ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกลหลังจากการเลือกตั้งที่นี่และนี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา