สะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทยถูกสร้างในยุครัฐบาลทักษิณ ไม่ใช่รัฐบาลประยุทธ์

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 28 มิถุนายน 2023 เวลา 06:04
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยได้แชร์คำกล่าวอ้างว่า สะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทยถูกสร้างในสมัยรัฐบาลของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไรก็ตาม บุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการสร้างสะพานดังกล่าวได้ยืนยันกับ AFP ว่า สะพานแห่งนี้ถูกสร้างหลายปีก่อนประยุทธ์ก่อรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2557

“#ต้องหูหนวกตาบอดและใจบอดเท่านั้นที่บอกว่า8ปีไม่เปลี่ยนแปลง สาธุขอให้เป็นจริงๆ #ผลงานลุงตู่4-สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ สะพานข้ามน้ำที่ยาวที่สุดในเมืองไทย” โพสต์เฟซบุ๊คเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 บรรยาย โดยระบุถึงระยะเวลาที่ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน

ประยุทธ์ จันทร์โอชาก่อรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย (ลิงค์บันทึก)

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์มากกว่า 100 ครั้ง และประกอบไปด้วยภาพถ่าย 4 ภาพของสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ซึ่งเป็นสะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทย สะพานดังกล่าวยาวประมาณ 5.5 กิโลเมตรและพาดผ่านทะเลสาบสงขลา และเชื่อมการเดินทางระหว่าง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง และ อ.ระโนด จ.สงขลา (ลิงค์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอจากโพสต์เฟซบุ๊กที่มีคำกล่าวอ้างเท็จ

โพสต์ที่มีคำกล่าวอ้างดังกล่าวปรากฏในช่วงที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 นับว่าเป็นการฉีกหน้ากลุ่มอำนาจที่ปกครองโดยกองทัพ นำโดยประยุทธ์ ผู้ก้าวจากตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหารขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

AFP รายงานเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เขามีความมั่นใจว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มากพอในการโหวตให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ต่อจากประยุทธ์ (ลิงค์บันทึก) ทั้งนี้ การประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี คาดว่าจะเกิดขึ้นประมาณกลางเดือนกรกฎาคม

โพสต์ที่มีคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันนี้ยังถูกแชร์ผ่านทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่ และทางติ๊กตอกที่นี่ นี่และ นี่

โพสต์ที่มีคำกล่าวอ้างเท็จนั้นได้แชร์ภาพถ่ายจากบทความในเว็บไซต์ Sanook ที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 บทความเขียนพาดหัวไว้ว่า “สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ สะพานข้ามน้ำที่ยาวที่สุดในเมืองไทย” แต่เนื้อหาในบทความไม่ได้มีส่วนไหนที่ระบุว่าสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ถูกสร้างในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ (ลิงค์บันทึก)

บุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการสร้างสะพานได้กล่าวกับ AFP ว่า สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ เริ่มสร้างในปี 2547 และเปิดให้ใช้งานตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งเป็นระยะเวลากว่า 7 ปีก่อนประยุทธ์ประกาศยึดอำนาจในปี 2557

รัฐบาลทักษิณอนุมัติการก่อสร้าง

เดิมสะพานเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ถนนบ้านไสกลิ้ง-บ้านหัวป่า ซึ่งได้รับมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน 2546 ให้ดำเนินการก่อสร้างตามโครงการภายใต้แผนบูรณาการงบประมาณพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (ลิงค์บันทึก)

ทักษิณ ชินวัตรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทยตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปี 2549 ก่อนเหตุการณ์รัฐประหารทำให้เขาต้องพ้นจากตำแหน่งและลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่นั้นมา (ลิงค์บันทึกที่นี่ และนี่)

โกเมศร์ ทองบุญชู อดีตกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ยืนยันกับ AFP ว่า สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ นั้นเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาดังกล่าว

“ผมยืนยันครับว่า โครงการนี้มีพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธเป็นประธานคณะกรรมการ โดยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีที่มี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และคณะรัฐมนตรียุคนั้นก็อนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการ” โกเมศร์กล่าว

ดร. วิชัย กาญจนสุวรรณ อดีตผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวกับ AFP ว่า โครงการก่อสร้างสะพานดังกล่าวนั้นเริ่มขึ้นหลายปีก่อนหน้าที่ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

วิชัยเป็นหนึ่งในคณะผู้ศึกษาที่จัดทำรายงานเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว รายงานถูกตีพิมพ์ในปี 2548 (ลิงค์บันทึก)

“ยืนยันแน่นอนครับว่าสะพานนี้ถูกสร้างเมื่อนานมาแล้ว หลายปีก่อนหน้าคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ” วิชัยกล่าว

ดร. นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญประเด็นทะเลสาบสงขลาและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยืนยันกับ AFP ว่าสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ นั้นถูกสร้างในสมัยรัฐบาลของทักษิณ ไม่ใช่รัฐบาลของประยุทธ์

“ใช่ครับ สะพานนี้ถูกสร้างในช่วงรัฐบาลทักษิณ ผมเป็นหนึ่งในกรรมการของโครงการดังกล่าวนี้ด้วย” นฤทธิ์กล่าวทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน

สร้างเสร็จในปี 2549

จากการค้นหาด้วยคำสำคัญ AFP พบสัญญาจ้างก่อสร้างสะพานดังกล่าวในเว็บไซต์ที่เลิกใช้งานแล้วของกรมทางหลวงชนบท

สัญญาว่าจ้างนี้ระบุว่า โครงการดังกล่าวได้รับงบประมาณ 549 ล้านบาทในการก่อสร้าง โดยสัญญาว่าจ้างได้เริ่มต้นในเดือนกันยายน ปี 2547 และสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม ปี 2549

การค้นหาด้วยคำสำคัญเพิ่มเติมยังพบอีกว่า บริษัท เอ. เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างสะพานดังกล่าว ซึ่งเว็บไซต์ของบริษัทได้ระบุว่า สะพานถูกสร้างเสร็จในเดือนสิงหาคม 2549 (ลิงค์บันทึก)

ภาพด้านล่างเป็นภาพถ่ายหน้าจอจากเว็บไซต์ของบริษัท เอ. เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง ที่ระบุว่าโครงการก่อสร้างสะพานสิ้นสุดวันที่ 22 สิงหาคม 2549

Image
ภาพถ่ายหน้าจอจากเว็บไซต์ของบริษัท เอ. เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง

สะพานดังกล่าวเปิดให้ใช้งานเป็นครั้งแรกในวันที่ 9 มกราคม 2550 เว็บไซต์ทางการของเทศบาลระโนด จ.สงขลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ระบุ (ลิงค์บันทึก)

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา