คลิปการประท้วงในอดีตถูกนำมากล่าวอ้างอย่างผิด ๆ ว่าเชื่อมโยงกับการเลือกตั้งปี 2566

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 30 มิถุนายน 2023 เวลา 12:05
  • อัพเดตแล้ว วัน 3 กรกฎาคม 2023 เวลา 04:45
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: Panisa AEMOCHA, AFP ประเทศไทย
ท่ามกลางความไม่แน่นอนว่าใครจะเข้ามานั่งเก้าอี้บริหารรัฐบาลไทยคนถัดไป คลิปวิดิโอ “ไลฟ์” บนเฟสบุ๊ก ซึ่งมียอดรับชมนับแสนครั้ง ได้แชร์คำกล่าวอ้างอย่างเท็จ ว่าเป็นการถ่ายทอดสดการประท้วงหน้ารัฐสภาของไทย ในวันที่ 22 มิถุนายน 2566 อย่างไรก็ตาม คลิปวิดีโอต้นฉบับเป็นการถ่ายทอดสดในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยมีการประท้วงที่นำโดยกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นยืนยันกับ AFP ว่า ไม่มีการประท้วงใกล้รัฐสภาในวันที่ 22 มิถุนายน

คำบรรยายวิดีโอในโพสต์กล่าวอ้างซึ่งเผยแพร่บนวิดีโอถ่ายทอดสดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ระบุว่า “สดจากแยกเกียกกาย ราษฎรปักหลักชุมนุมต่อเนื่อง22_06_66”

อาคารรัฐสภาของไทยนั้นตั้งอยู่ห่างจากแยกเกียกกายในระยะที่สามารถเดินถึงได้

คำว่า “ราษฎร” ในโพสต์ดังกล่าวหมายถึง “คณะราษฎร 2563” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกนิยามโดยศูนย์ระหว่างประเทศว่าด้วยความขัดแย้งที่ไม่รุนแรง (ICNC) ว่าเป็น “องค์กรร่ม” ที่เคลื่อนไหวระหว่างการประท้วงปี 2563 ในประเทศไทย (ลิงค์บันทึก)

คลิปวิดีโอดังกล่าว มียอดรับชมสูงกว่า 100,000 ครั้ง โดยเป็นคลิปวิดีโอการประท้วงในช่วงเย็นซึ่งมีการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงและตำรวจ ในความยาวทั้งหมด 4 ชั่วโมงคลิปวิดีโอดังกล่าวฉายเหตุการณ์ซ้ำถึง 3 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

วิดีโอดังกล่าวถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ไม่นานหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งรับรองผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ซึ่งนับเป็นชัยชนะของกลุ่มการเมืองฝ่ายค้านเหนือพรรคการเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกับฝ่ายกองทัพ ที่ครองอำนาจในประเทศมาเกือบทศวรรษ

ท่ามกลางความไม่แน่นอนว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลจะได้ดำรงค์ตำแหน่งดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากต้องรวบรวมเสียงสนับสนุนจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งวุฒิสมาชิกทั้ง 250 คนถูกแต่งตั้งโดยฝ่ายกองทัพ

นอกจากศึกในสภาแล้ว ยังมีเรื่องที่พิธาถูกตรวจสอบโดยกกต. เรื่องการถือหุ้นสื่อของช่องไอทีวี ที่ปัจจุบันไม่ได้มีการดำเนินธุรกิจสื่อ -- ว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าผิดจริง พิธาอาจถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองถึง 20 ปี และโทษจำคุกถึง 10 ปี

วิดีโอเดียวกันถูกแชร์ในโพสต์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ และถูกแชร์โดยผู้ใช้ที่นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ถึง 2 ปี

คลิปวิดีโอจาก 2563

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิลด้วยคีย์เฟรมส์จากวิดีโอ พบคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ทางช่องยูทูปของสื่อท้องถิ่น The Standard เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 (ลิงค์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอยูทูปของ The Standard (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอยูทูปของ The Standard (ขวา)

วิดีโอต้นฉบับทางยูทูป เป็นวิดีโอสตรีมสดชื่อว่า “สดจากแยกเกียกกาย ราษฎรปักหลักชุมนุมต่อเนื่อง 18.30 น.” โดยมีความยาว 1 ชั่วโมง 25 นาที 08 วินาที

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 AFP รายงานการปะทะกันระหว่างกลุ่มนักเคลื่อนไหวและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งนับเป็นการปะทะที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่มวลชนที่นำโดยเยาวชนเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปรัฐธรรมนูญและเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีลาออก

ตำรวจได้ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาใส่ผู้ประท้วง ที่ฝ่าแนวกั้นของตำรวจและมุ่งหน้าสู่อาคารรัฐสภาในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจุดที่สส. กำลังหารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยฝ่ายกองทัพ

องกรณ์นิรโทษกรรมสากลและสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่ามีผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บ 55 คน ในวันที่ 17 ส่วนใหญ่จากการสูดดมแก๊สน้ำตา (ลิงค์บันทึกที่นี่และนี่)สิบตำรวจโท พัฒนพงศกร ดุจมณีวงศชัย พนักงานวิทยุ สถานีตำรวจนครบาลบางโพ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ชุมนุม กล่าวกับ AFP ว่า ไม่มีรายงานการประท้วงในพื้นที่ดังกล่าว ในวันที่ 22 มิถุนายน ตามคำกล่าวอ้างเท็จ

“ไม่มีรายงานการประท้วงในวันนั้นนะครับ” เขากล่าวเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา