ภาพนี้เป็นภาพวาดสีอะคริลิค ไม่ใช่ภาพถ่ายของยานดำน้ำไททัน

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 6 กรกฎาคม 2023 เวลา 06:29
  • อัพเดตแล้ว วันที่ 7 กรกฎาคม 2023 เวลา 09:58
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์ภาพถ่ายพร้อมคำกล่าวอ้างว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพชิ้นส่วนของยานดำน้ำไททัน หลังจากยานระเบิดและผู้โดยสารเสียชีวิตยกลำ 5 คนขณะเดินทางไปสำรวจซากเรือไททานิค อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ภาพดังกล่าวเป็นภาพวาดสีอะคริลิค ที่แสดงยานดำน้ำลึกที่สำรวจเศษซากเรือไททานิคในปีพ.ศ. 2529

ภาพจากก้นทะเลดังกล่าวถูกโพสต์ลงในคลิปวิดีโอติ๊กตอกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 พร้อมคำบรรยายที่เขียนว่า: “ภาระกิจค้นหา เรือดำน้ำ ไททัน เรือท่องเที่ยว สำรวจซากเรือไททานิค ออกซิเจนจะหมดเวลา 12.00 วันนี้”

วิดีโอดังกล่าวได้รับการกดถูกใจมากกว่า 255,000 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอติ๊กตอกที่ทำให้เข้าใจผิด

ในวันเดียวกัน ยังพบภาพดังกล่าวปรากฏในช่องทางเฟซบุ๊ก

“ภาระกิจค้นหา เรือดำน้ำ ไททัน เรือท่องเที่ยว สำรวจซากเรือไททานิค ออกซิเจนจะหมดเวลา 12.00 วันนี้ 22/06 (เวลาไทย 18.00 )” คำบรรยายในโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนระบุ “ทฤษฎี ความเป็นไปได้ จากการตั้งข้อสมมติฐาน ... หลายคนให้น้ำหนักประเด็นนี้ เรือดำน้ำขนาดเล็ก อาจติดในซากเรือไททานิค ขณะสำรวจเรือดำน้ำอาจเกี่ยวกับซากเรือ และดึงตัวเองออกไม่ได้"

โพสต์ที่มีภาพดังกล่าวได้รับการกดไลค์กว่า 7,000 ครั้งและถูกแชร์ไปมากกว่า 2,000 ครั้ง

ภาพเดียวกันถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ และ นี่ และในช่องทางอื่นๆ เช่น บล็อก บทความข่าว และ ติ๊กตอก

นอกจากนี้ยังพบว่าเว็บไซต์ Sanook ได้แชร์ภาพดังกล่าวในอัลบั้ม “ภาพถ่ายซากไททานิก จากก้นทะเล” อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวไม่ได้เป็นภาพถ่ายของยานดำน้ำไททัน ซึ่งเป็นยานสำรวจทะเลลึกที่พาผู้โดยสารดำสู่ก้นมหาสมุทรเพื่อชมซากเรือไททานิก ในวันที่ 18 มิถุนายน ยานดำน้ำดังกล่าวขาดการติดต่อหลังจากลงไปใต้น้ำได้ไม่ถึง 2 ชั่วโมง

หน่วยยามชายฝั่งสหรัฐฯ ออกมายืนยันในวันที่ 23 มิถุนายน (เวลาประเทศไทย) ว่ายานดำน้ำไททัน “ระเบิดจากภายในอย่างรุนแรง” ส่งผลให้ผู้โดยสารทุกคนภายในยานดำน้ำเสียชีวิตทันที โดยแถลงการณ์ดังกล่าวนับเป็นการสิ้นสุดภารกิจการค้นหายานไททันที่สูญหายไป

การค้นหาภาพย้อนหลังพบว่า ภาพที่ถูกนำไปเผยแพร่ในบริบทที่ทำให้เข้าใจผิดทางสื่อสังคมออนไลน์ ที่จริงแล้ว เป็นภาพวาดสีอะคริลิคของซากเรือไททานิคที่ถูกวาดขึ้นโดยศิลปินชาวอเมริกันชื่อ เคน มาร์แชล ในปีพ.ศ. 2530 (ลิงค์บันทึก) เขาเป็นที่รู้จักจากผลงานภาพวาดเรือไททานิค ซึ่งชนภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทรแอตแลนติกและจมลงในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2455

เว็บไซต์อื่นๆ รวมไปถึงตลาดศิลปะ Artnet ระบุว่าภาพวาดดังกล่าวเป็นผลงานของมาร์แชล (ลิงค์บันทึกที่นี่ และ นี่)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอจากเว็บไซต์ kenmarschall.com

บนเว็บไซต์ของมาร์แชล คำบรรยายประกอบภาพวาดเขียนไว้ว่า “ส่วนท้ายเรือของเรือไททานิคและเศษซากรอบๆ โดยมียานดำน้ำอัลวินอยู่บริเวณใต้ดาดฟ้าท้ายเรือ ดังที่ปรากฏระหว่างการสำรวจของบัลลาร์ดจากแห่งสถาบันวิจัยสมุทรศาสตร์วู้ดส์โฮล (WHOI) ในปีค.ศ. 1986”

ยานดำน้ำอัลวินดำน้ำลงไปสำรวจซากเรือไททานิคได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2529 โดยยานดำน้ำดังกล่าวสามารถรองรับผู้โดยสารได้ทั้งหมด 3 คน และดำเนินการโดยสถาบันวิจัยสมุทรศาสตร์วูดส์โฮล ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

Image
ภาพถ่ายของยานดำน้ำอัลวินขณะลงสำรวจซากเรือไททานิคครั้งแรกในปีพ.ศ. 2529 ซึ่งถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 โดยสถาบันวิจัยสมุทรศาสตร์วูดส์โฮล

AFP พยายามติดต่อมาร์แชลเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม แต่ไม่รับการตอบรับ

พบชิ้นส่วนยานไททัน

ยานสำรวจใต้น้ำควบคุมระยะไกล (ROV) พบเศษชิ้นส่วนของยานดำน้ำไททันใต้ท้องทะเล รวมไปถึงชิ้นส่วนหางรูปกรวย (tail cone) ส่วนปลายแหลมด้านหน้าและส่วนท้ายของห้องแรงดัน ที่จุดห่างจากซากหัวเรือไททานิกประมาณ 1,600 ฟุต (500 เมตร)

หน่วยที่หนึ่งของหน่วยยามชายฝั่งสหรัฐฯ กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนว่า ยังไม่มีการเผยแพร่ภาพถ่ายหรือวิดีโอของชิ้นส่วนยานไททัน

ต่อมา ในวันที่ 28 มิถุนายน ได้ปรากฏว่ามีภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นชิ้นส่วนของยานไททันที่ถูกกู้ขึ้นมายังชายฝั่งของประเทศแคนาดา

ผู้ที่เสียชีวิตบนเรือไททัน ได้แก่ สต็อกตัน รัช ซีอีโอของบริษัท โอเชียนเกต เอ็กส์เพดิชัน เจ้าของเรือดำน้ำ พอล อองรี นาร์จีโอเลต นักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่ได้รับฉายาว่า “มิสเตอร์ไททานิค” ฮามิช ฮาร์ดิง นักธุรกิจพันล้านและนักสำรวจชาวอังกฤษ ชาห์ซาดา ดาวุด นักธุรกิจชาวปากีสถาน และลูกชายของเขาชื่อ สุเลมาน ดาวุด

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับยานดำน้ำไททันก่อนหน้านี้แล้วที่นี่ นี่ นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา