ภาพแสดงนักกีฬาวอลเลย์บอลทีมชาติไทยส่งสัญญาณระหว่างแข่ง ไม่ใช่สัญลักษณ์ทางการเมือง
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 6 กรกฎาคม 2023 เวลา 11:50
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
ภาพถ่ายนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566
โพสต์ดังกล่าวเขียนคำบรรยายว่า “แบนสมาคมวอลเล่ย์ เลิกดูเลิกเชียร์ค่ะ ถ้าเป็นสามกีบก็ไปเป็นสามกีบ อย่ามาใส่เสื้อทีมชาติไทยค่ะ”
โพสต์ดังกล่าวได้แชร์ภาพถ่ายพิธาร่วมเข้าชมการแข่งขันวอลเลย์บอลในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน และภาพถ่ายของอัจฉราพร คงยศ นักวอลเลย์บอลทีมชาติไทยที่ทำท่าชูสามนิ้วระหว่างการแข่งขัน
โพสต์ที่แชร์ภาพของพิธาพร้อมภาพของอัจฉราพรถูกแชร์ทางทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊กที่นี่และนี่
นอกจากนี้ยังมีโพสต์อื่นที่นี่ และ นี่ ที่วิจารณ์อัจฉราพรว่าเธอชูสามนิ้ว ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านรัฐประหาร ที่โด่งดังมาจากภาพยนตร์เรื่อง “The Hunger Games : เกมล่าเกม”
พรรคก้าวไกลของพิธาได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเป็นอันดับหนึ่งจากการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม นับว่าเป็นชัยชนะของพรรคฝ่ายค้านเหนือพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลทหารที่ครองอำนาจมาเกือบทศวรรษ
แม้พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง แต่ยังต้องฝ่าด่านวุฒิสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร โดยสาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมาจากการผลักดันของพรรคก้าวไกลให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีโทษจำคุกถึง 15 ปี
การแข่งขันในบราซิล
อย่างไรก็ตาม ภาพของอัจฉราพรไม่ได้เป็นภาพจากการแข่งขันระหว่างทีมชาติตุรกีและไทย ที่พิธาร่วมชมในสนามแข่งที่กรุงเทพฯ
การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบภาพถ่ายภาพเดียวกันถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ของเวิลด์วอลเลย์บอล โดยคำบรรยายภาพแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ประเทศไทย (THA) vs. โครเอเชีย (CRO) ทีมหญิง - Pool 4 - รอบคัดเลือก #5547891” (ลิงค์บันทึก)
“นี่เป็นภาพจากสนามระหว่างการแข่งขันของทีมชาติไทยและโครเอเชีย เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน โดยเป็นภาพของช่างภาพจาก volleyballworld.com” แอนนา มานูอีเลียน ตัวแทนของสมาคมวอลเลย์บอลนานาชาติ กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพที่ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ของเวิลด์วอลเลย์บอล (ขวา):
“ไม่มีบริบททางการเมือง”
เกี่ยวกับคำกล่าวอ้างเรื่องการแสดงออกทางการเมือง มานูเอลันกล่าวว่าการชูสามนิ้วของอัจฉราพร “ไม่มีบริบททางการเมือง”
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน สมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่แถลงการณ์ทางเพจเฟซบุ๊กเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างที่ถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์ (ลิงค์บันทึก)
“ในอีกส่วนหนึ่งที่มีการเผยแพร่ภาพนักกีฬาชูนิ้วคล้ายๆ สัญลักษณ์ของกลุ่มการเมืองหนึ่ง แล้วโยงเป็นเรื่องกีฬาการเมืองนั้น ความจริงไม่เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใดข้อเท็จจริงคือ เป็นภาพจากการแข่งขันวอลเลย์บอล เนชั่นลีก สัปดาห์ที่ 2 ที่ประเทศบราซิล”
“อัจฉราพร คงยศ นักกีฬาทีมชาติไทย แสดงสัญลักษณ์เพื่อให้เพื่อนร่วมทีมรู้ว่าคู่ต่อสู้จะเล่นในลักษณะใด” แถลงการณ์ดังกล่าวระบุต่อ
AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จเกี่ยวกับสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหารดังกล่าวมาแล้วที่นี่ นี่และนี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา