
ภาพกองขยะในกรุงปารีสถูกสร้างด้วยโปรแกรมจากปัญญาประดิษฐ์ (AI)
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 11 สิงหาคม 2566 เวลา 11:11
- อัพเดตแล้ว วันที่ 11 สิงหาคม 2023 เวลา 11:15
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
- เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
“สภาพกรุงปารีส เมืองหลวงฝรั่งเศส เมืองในฝัน..... แต่ตอนนี้คือความจริง” ข้อความสติกเกอร์ในวิดีโอติ๊กตอกเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ระบุเป็นภาษาไทย
วิดีโอดังกล่าวประกอบไปด้วยภาพของถนนที่เต็มไปด้วยกองขยะจำนวน 14 ภาพ โดยฉากหลังของภาพเหล่านี้แสดงให้เห็นสิ่งก่อสร้างที่คล้ายกับสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังในกรุงปารีส เช่น หอไอเฟล พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ และประตูชัยฝรั่งเศส โพสต์ติ๊กตอกดังกล่าวมีผู้เข้าชมมากกว่า 400,000 ครั้ง
“รัฐบาลทุ่มเงินไปกับสงคราม” โพสต์ดังกล่าวระบุในคำบรรยายใต้วิดีโอ ราวกับจะชี้ให้เห็นว่าเมืองหลวงของฝรั่งเศสที่เต็มไปด้วยกองขยะนั้นเกิดขึ้นหลังเหตุจลาจลที่ลุกลามไปทั่วฝรั่งเศส ซึ่งมีชนวนมาจากเหตุการณ์ที่ตำรวจยิงวัยรุ่น 17 ปีเสียชีวิตขณะขับรถในกรุงปารีส (ลิงค์บันทึก)

วิดีโอและคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันยังถูกแชร์ต่อบนช่องทางอื่นๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ในเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ และนี่ รวมไปถึงทวิตเตอร์ หรือ ‘X’ ที่นี่
คอมเมนท์ของผู้ใช้ติ๊กตอกส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่า พวกเขาเชื่อว่าภาพที่ปรากฏในวิดีโอเป็นภาพจากเหตุการณ์จริง
“ระบบการปกครองที่ล้มเหลว เพราะทุกคนต้องการความเท่าเทียมไงละ มีบางพรรคอยากเป็นเหมือนฝรั่งเศส” ผู้ใช้งานติ๊กตอกบัญชีหนึ่งเขียนคอมเมนท์ไว้ใต้วิดีโอ
“ยุคมืดของประเทศที่พัฒนาแล้ว เราก็คือเราค่อยๆเป็นค่อยๆไป ภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย” อีกคอมเมนท์หนึ่งระบุ
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบแล้ว AFP พบว่าภาพดังกล่าวถูกสร้างขึ้นโดยใช้โปรแกรม AI
ภาพที่สร้างจาก AI
จากการตรวจสอบภาพในวิดีโออย่างละเอียด AFP พบเบาะแสบางอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าภาพดังกล่าวถูกสร้างขึ้นโดย AI เช่น ใบหน้าของคนที่บิดเบี้ยว
ด้านล่างคือภาพของภาพถ่ายหน้าจอของภาพที่ปรากฏในวิดีโอติ๊กตอกที่แสดงให้เห็นใบหน้าคนที่บิดเบี้ยว โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายไว้:


ก่อนหน้านี้ AFP ได้เผยแพร่แนวทางในการหาเบาะแสของภาพที่ถูกสร้างจาก AI
การค้นหาภาพย้อนหลังโดยใช้บางภาพในวิดีโอติ๊กตอก พบภาพชุดเดียวกันถูกโพสต์บนเพจเฟซบุ๊กชื่อ “Nik Art” เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2566 (ลิงค์บันทึก) โดยข้อมูลตรงหน้าบัญชีเพจระบุว่าเป็นเพจที่เกี่ยวกับงานศิลปะ
โพสต์ดังกล่าวเขียนคำบรรยายภาพชุดนี้ไว้ว่า “ปารีส เมืองแห่งความรัก”
ด้านล่างนี้คือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพ 2 ภาพที่แชร์ในวิดีโอติ๊กตอก (ซ้าย) และภาพที่สร้างโดย AI โดย Nik Art (ขวา):


เจ้าของเพจเฟซบุ๊กได้ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมว่า เขาสร้างภาพชุดดังกล่าวขึ้นมาโดยการใช้โปรแกรม Midjourney ซึ่งเป็นโปรแกรมสร้าง AI ที่แปลงข้อความออกมาเป็นภาพ (ลิงค์บันทึก)
“ใช่ ฉันเป็นคนสร้างภาพเหล่านี้ขึ้นมาด้วยโปรแกรม Midjourney” Nick Art กล่าวกับ AFP
นอกจากนี้ Nick Art ยังส่งภาพถ่ายหน้าจอของคำสั่งข้อความที่เขาป้อนในโปรแกรม Midjourney เพื่อสร้างภาพกองขยะบนถนนในปารีสให้กับ AFP:

เมื่อ AFP ป้อนคำสั่งข้อความเดียวกันในโปรแกรม Midjourney พบว่าผลลัพธ์นั้นคล้ายกับภาพของ Nik Art:

พนักงานเก็บขยะหยุดงานประท้วง
การตายของ นาเฮล เอ็ม วัยรุ่นเชื้อสายแอลจีเรียที่ถูกตำรวจยิงในเดือนมิถุนายน 2566 ได้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงเพื่อต่อต้านการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุและการเหยียดเชื้อชาติที่มีมาอย่างยาวนานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในฝรั่งเศส ผู้ประท้วงที่โกรธแค้นได้บุกทำลายทรัพย์สินจนเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ตามไม่พบรายงานว่ามีขยะกองพะเนินในช่วงที่มีเหตุจลาจล (ลิงค์บันทึก)
ในช่วงเดือนมีนาคม 2566 กรุงปารีสเผชิญกับปัญหาขยะกองโตอยู่ตามท้องถนน เนื่องจากพนักงานเก็บขยะในกรุงปารีสหยุดงานประท้วงการปฏิรูปเงินบำนาญของภาครัฐ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ (ลิงค์บันทึก)
ขยะหลายพันตันถูกทิ้งเกลื่อนอยู่บนทางเท้าของกรุงปารีสในช่วงเวลานั้น ซึ่ง AFP ได้รายงานและเผยแพร่วิดีโอ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม (ลิงค์บันทึก)
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับเหตุจลาจลในฝรั่งเศสที่นี่ นี่ และนี่
และตรวจสอบข้อเท็จจริงอื่นๆ ที่เกี่ยวกับภาพที่สร้างโดย AI ที่นี่ นี่ และนี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา