วิดีโอเหตุการณ์ระเบิดบนทางด่วนถูกนำมาอ้างอย่างผิด ๆ ว่าเป็นอุบัติเหตุรถยนต์ไฟฟ้าชนกัน
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วัน 9 สิงหาคม 2023 เวลา 10:01
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Bill MCCARTHY, AFP สหรัฐอเมริกา
- แปลและดัดแปลง โดย Panisa AEMOCHA
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำบรรยายของคลิปวิดีโอในโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 เขียนว่า: “ข่าวด่วน ว้าว!!! รถยนต์ไฟฟ้า แฝง อันตราย ขณะไฟลุก แล้วระเบิด สาเหตุนี้ คือสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าชนกัน มีการระเบิดหลายครั้ง เนื่องจาก แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ที่ใช้งานหนักจะระเบิด”
โพสต์ดังกล่าวระบุต่อว่า เนื่องจากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเป็นแหล่งพลังงานของรถยนต์ไฟฟ้าที่ทำให้เพลิงลุกไหม้เป็นไฟที่ต้องใช้เครื่องดับเพลิงเฉพาะทาง เนื่องจากเครื่องดับเพลิงที่ใช้กันอย่างทั่วไปอย่างน้ำ โฟม ผงเคมีแห้ง คาร์บอนไดออกไซด์ หรือสารสะอาด “ไม่สามารถและไม่ควรใช้ ... เนื่องจากจะทำให้ไฟแย่ลง” โพสต์ดังกล่าวยังเตือนอีกว่า “ควันไฟจากลิเธียมเป็นพิษอันตราย”
คลิปวิดีโอเดียวกันยังถูกแชร์อย่างแพร่หลายในหลายภาษา ทั้งบนทวิตเตอร์ ที่เปลี่ยนชื่อเป็น “X” และในช่องทางอื่นๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูป และติ๊กต็อก
โพสต์เหล่านี้ถูกแชร์ออกไปหลังเหตุการณ์เรือขนส่งสินค้าที่บรรทุกรถยนต์ไฟฟ้าระเบิดบริเวณชายฝั่งของประเทศเดนมาร์กในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในคลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากการชนระหว่างรถบรรทุกถังแก๊สที่ชนกับรถอีกคัน ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2556 และไม่มีรถยนต์ไฟฟ้าเกี่ยวข้องในเหตุการณ์แต่อย่างใด
คลิปวิดีโอต้นฉบับ
การค้นหาภาพย้อนหลังตามด้วยการค้นหาด้วยคำสำคัญ พบคลิปวิดีโอต้นฉบับถูกเผยแพร่โดยบัญชียูทูปภาษารัสเซีย เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2556 (ลิงค์บันทึกที่นี่)
นอกจากนี้ยังมีวิดีโออื่นๆ ที่โพสต์ในวันเดียวกัน ที่แสดงให้เห็นเหตุการณ์ระเบิดดังกล่าวจากมุมอื่นๆ (ลิงค์บันทึกนี่ นี่และนี่) โดยมีคลิปหนึ่งที่แสดงให้เห็นช่วงเวลาที่รถบรรทุกชนเข้ากับรถบัสด้านหน้า (ลิงค์บันทึกที่นี่)
สื่อรัสเซียหลายสำนัก รวมถึง RIA Novosti รายงานว่าเหตุเกิดจากรถบรรทุกอีซูซุ ที่บรรทุกถังแก๊ส 119 ถัง ชนเข้ากับรถบัสคนหนึ่งซึ่งมีผู้โดยสารจำนวน 28 คน สื่อท้องถิ่นรายงานว่าเปลวเพลิงเกิดจากการระเบิดของถังแก๊ส (ลิงค์บันทึกที่นี่) พร้อมรายงานว่าคนขับรถบรรทุกได้รับบาดเจ็บ และได้รับการช่วยเหลือออกได้ โดยไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
ภาพจากวิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นจังหวะที่ถังแก๊สค่อยๆ ติดไฟก่อนปะทุขึ้น และกระเด็นข้ามไปอีกฝั่ง
AFP สามารถระบุสถานที่ของคลิปดังกล่าวผ่านแผนที่ดาวเทียม โดยเป็นเหตุการณ์ขึ้นที่บนถนน European Route E115 บริเวณใกล้กับถนนวงแหวน Moscow Automobile ในกรุงมอสโก (ลิงค์บันทึกที่นี่)
โฆษกของคณะกรรมการขนส่งปลอดภัยแห่งชาติของสหรัฐฯ (NTSB) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่คอยตรวจสอบอุบัติเหตุใหญ่ ๆ บนท้องถนน กล่าวกับ AFP ว่า หน่วยงานของพวกเขายังไม่เคยตรวจสอบเหตุการณ์รถยนต์ไฟฟ้า 2 คันชนกัน
ตามข้อมูลจากกรมขนส่งทางบกของประเทศไทย ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2566 มีการจดทะเบียนรถพลังงานไฟฟ้าทั่วประเทศถึง 32,450 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงถึง 474.43% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ขณะที่รถยนต์ยี่ห้ออิซูซุเผยโฉมรถบรรทุกไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
รถยนต์ไฟฟ้าและความเสี่ยงจากอัคคีภัย
รถยนต์ไฟฟ้ามีความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้จริง ไฟจากรถยนต์ไฟฟ้ามีความซับซ้อนในการรับมือเนื่องจากเปลวเพลิงเหล่านี้จะเผาไหม้ในเวลานานกว่า มีความร้อนสูงกว่า และต้องใช้น้ำในปริมาณมากกว่าในการควบคุมเมื่อเทียบกับเหตุไฟไหม้จากรถยนต์ทั่วไป
เอลแฮม ซาห์ราอี ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกล และผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยยานยนต์ไฟฟ้าแห่งมหาวิทยาลัยเทมเปิล กล่าวว่า ในทางทฤษฎี เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าสองคันชนกันอาจเกิดระเบิดได้ ต่อเมื่อวัสดุที่หุ้มแบตเตอรี่ได้รับความเสียหายถึงชั้นเซลของแบตเตอรี่ด้านใน
“หากการชนนั้นรุนแรงพอที่จะสร้างความเสียหายให้กับฉนวนป้องกัน จนเซลแบตเตอรี่ด้านในถูกทำลาย เหตุการณ์อย่างในวิดีโอก็ไม่เกินจริง” ซาห์ราอี กล่าว
หยาง หยาง จากมหาวิทยาลัยเซนทรัลฟลอริดา ผู้ซึ่งเป็นคนพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ในรถยนต์ไฟฟ้าเห็นด้วยกับความเห็นข้างต้น
“หาก (รถยนต์ไฟฟ้า) สองคันชนกันจนแผงแบตเตอรี่ด้านในฉีดขาด จะทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร หลังจากนั้นพลังงานเคมีที่สะสมอยู่ภายในจะถูกปลดปล่อยออกมาในรูปแบบพลังงานความร้อน ผ่านระเบิดหรือเพลิงไหม้” หยาง กล่าวกับ AFP ผ่านอีเมล “รูปแบบคล้ายกับการจุดพลุในพื้นที่แคบมากๆ”
ซาห์ราอีอธิบายเพิ่มว่า อุบัติเหตุรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่มีรูปแบบคล้ายกับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงเผาไหม้
แผงแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้าวางอยู่ข้างบนถาดแข็งแรง พร้อมฉนวนป้องกัน ซึ่งสามารถป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับแบตเตอรี่จากการชนที่ “ความรุนแรงทั่วๆ ไป” เธอกล่าว
โจอี้ ยัง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสัมพันธ์จากสถาบันประกันความปลอดภัยทางหลวง (IIHS) ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร กล่าวว่า IIHS ได้ทำการจำลองเหตุการณ์รถยนต์ไฟฟ้าชนกัน 60 ครั้ง โดยไม่มีครั้งใดที่นำไปสู่การเกิดเพลิงไหม้ เขากล่าวกับ AFP ว่า ปัจจุบันเขายังไม่ทราบถึงฐานข้อมูลสถิติการเกิดเพลิงไหม้หลังเกิดการชนกันของรถยนต์ในเหตุการณ์จริง
ในภาพรวมนั้น ยังมีอีกหลายประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่ได้มีการกล่าวถึงเป็นอย่างกว้างขวาง ซาห์ราอีกล่าว นอกจากนี้จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าบนท้องถนนยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไป ทำให้มีข้อมูลจำกัด
จากรายงานของตลาดซื้อขายประกันรถยนต์ออนไลน์ AutoinsuranceEZ ในปี 2565 ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลจาก (NTSB) และ สำนักสถิติแรงงานของสหรัฐฯ พบว่า รถยนต์ไฮบริดมีความเสี่ยงไฟไหม้สูงที่สุดเมื่อเทียบในอัตราส่วน 1 ต่อ 100,000 คัน รองลงมาคือรถยนต์ทั่ว ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ามีความเสี่ยงไฟไหม้น้อยที่สุด (ลิงค์บันทึกที่นี่)
พอล คริสตีนเซน จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับความปลอดไฟและการติดไฟของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ยกข้อมูลจาก EV FireSafe บริษัทสัญชาติออสเตรเลียที่ศึกษาในประเด็นดังกล่าว (ลิงค์บันทึกที่นี่)
บริษัทดังกล่าวได้รวบรวมข้อมูลเพลิงไหม้จากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเกือบ 500 กรณี ทั่วโลก ระหว่างปี 2553 ถึงเดือนมิถุนายน 2566 โดยแบ่งหมวดหมู่เป็นสาเหตุ สถานที่ และเป็นภาวะการติดไฟ หรือการระเบิด
“ฉันไม่ทราบถึงการชนกันของ (รถยนต์ไฟฟ้า) ที่นำไปสู่การระเบิด” คริสตีนเซน กล่าว
AFP ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรถบัสไฟฟ้าที่ติดไฟในเคนยา รวมถึงข่าวปลอมอื่น ๆ เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าที่นี่ นี่และนี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา