สื่อสังคมออนไลนไทยเผยแพร่คำกล่าวอ้างเท็จว่า รถจักรไอน้ำถูก "ปลุก" มาใช้งานอีกครั้งในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 23 สิงหาคม 2023 เวลา 10:41
- อัพเดตแล้ว วันที่ 23 สิงหาคม 2023 เวลา 11:03
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
“รถไฟไทยที่ยุค #ลุงตู่ ปลุกขึ้นมาผงาดอีกครั้ง ทำให้ต่างชาติตะลึงในความเป็นเอกลักษณ์และความสวยงาม ดูมีมนต์ขลังมากๆค่ะ” คำบรรยายของวิดีโอที่ถูกโพสต์ใน X เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 เขียนระบุ
ต้นฉบับของวิดีโอดังกล่าวถูกแชร์โดยผู้ใช้งานติ๊กตอกบัญชีหนึ่งเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ซึ่งแสดงให้เห็นรถจักรไอน้ำกำลังลากจูงขบวนรถไฟไปตามราง (ลิงค์บันทึก)
ข้อความภาษาไทยบนวิดีโอระบุว่า “ต่างชาติตกใจคนไทยปลุกปู่ทวดออกมาวิ่ง ญี่ปุ่นกับเยอรมันต่างร้องว้าวด้วยความดีใจ”
โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์โดยบัญชี X ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 13,000 คน โดยคำบรรยายนั้นยังต่อท้ายด้วยแฮชแท็กที่แสดงความชื่นชมต่อนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา อาทิ #ผลงานลุงตู่ และ #ทีมลุงตู่
วิดีโอเดียวและคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันนี้ยังถูกแชร์ทางเฟซบุ๊คที่นี่ นี่ และนี่ และทางติ๊กตอกที่นี่
ประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งผลการเลือกตั้งแสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจที่มาจากประยุทธ์ อดีตผู้นำรัฐประหารปี 2557
หลังการเลือกตั้งผ่านไปกว่าสามเดือน ที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมมีมติเห็นชอบให้นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย
พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเลือกตั้งมากเป็นอันดับที่ 2 จากการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม และเป็นพรรคแกนนำที่จัดตั้งรัฐบาลได้ในที่สุด หลังพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ได้เสียงสนับสนุนในสภาไม่มากพอให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะกวาดที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้มากที่สุดก็ตาม
อย่างไรก็ตาม รถจักรไอน้ำทั้ง 2 คันที่ถูกสื่อสังคมออนไลน์อ้างถึงนั้น ถูกนำกลับมาใช้งานก่อนหน้าที่ประยุทธ์จะก่อรัฐประหารในปี 2557
รถจักรไอน้ำรุ่นแปซิฟิก
รถจักรไอน้ำทั้ง 2 คันที่ปรากฏในวิดีโอนั้นมีหมายเลขประจำรถระบุไว้เป็นตัวเลขอารบิก “824” และ “850”
จากการค้นหาด้วยคำสำคัญในกูเกิ้ลพบว่า หมายเลข 824 และ 850 นั้นตรงกันกับรถจักรไอน้ำรุ่นแปซิฟิก 2 คันที่ยังใช้งานอยู่ในประเทศไทย
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยได้สั่งนำเข้ารถจักรไอน้ำจากญี่ปุ่นมาใช้งานจำนวน 30 คัน โดยข้อมูลดังกล่าวถูกระบุไว้ในวารสารรถไฟสัมพันธ์ ซึ่งถูกตีพิมพ์และเผยแพร่โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในปี 2564 (ลิงค์บันทึก)
วารสารดังกล่าวยังระบุเพิ่มเติมว่า รถจักรไอน้ำแปซิฟิกหมายเลข 824 และ 850 ถูกนำมาใช้งานครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2492 และเดือนมีนาคม 2493 ตามลำดับ
ต่อมา รฟท. ได้ทำการซ่อมบำรุงหนักทุกส่วนของรถจักรไอน้ำทั้ง 2 คันในปี 2555 ซึ่งเป็นช่วงที่อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งอยู่ และเป็นระยะเวลา 2 ปีก่อนหน้าที่ประยุทธ์จะก่อรัฐประหาร
หลังการซ่อมบำรุงเสร็จสิ้น รถจักรไอน้ำทั้งสองกลับมาใช้งานอีกครั้งในวันที่ 5 ธันวาคม 2555 ซึ่งถูกกำหนดให้เป็น “วันพ่อแห่งชาติ” ของไทย โดยรถจักรไอน้ำได้ให้บริการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ปัจจุบัน รถจักรไอน้ำทั้ง 2 คันถูกเก็บรักษาไว้ที่โรงรถจักรธนบุรี กรุงเทพมหานคร
ศุภกิจ พิพัฒน์จินดา รองสารวัตรของโรงรถจักรธนบุรีกล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมว่า รถจักรไอน้ำทั้งสองได้รับการซ่อมแซมบูรณะใหม่และถูกนำมาใช้งานอีกครั้งตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา
ศุภกิจยังกล่าวเสริมว่า รถจักรไอน้ำทั้ง 2 คันจะออกวิ่งในโอกาสพิเศษเพียงปีละ 6 ครั้งเท่านั้น โดยการเดินรถพิเศษครั้งแรกหลังการซ่อมแซมมีขึ้นในวันที่ 5 ธันวาคม 2555
ริชาร์ด บาร์โรว์ ชาวต่างชาติเจ้าของบล็อก Thai Train Guide ยืนยันกับ AFP ว่า รถจักรไอน้ำได้กลับมาใช้งานก่อนหน้าที่ประยุทธ์จะยึดอำนาจรัฐบาล (ลิงค์บันทึก)
“รถจักรไอน้ำกลับมาวิ่งก่อนประยุทธ์เป็นนายกฯ อย่างแน่นอน” บาร์โรว์ตอบในข้อความเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม “ผมเคยนั่งขบวนรถจักรไอน้ำมาก่อน ซึ่งเป็นช่วงก่อนหน้ารัฐบาลประยุทธ์ ผมจำได้ด้วยว่ารถจักรไอน้ำ 2 คันนี้ได้รับการบูรณะในปี 2555”
การค้นหาคำสำคัญบนกูเกิ้ลเพิ่มเติมยังทำให้พบภาพถ่ายในเว็บไซต์ rotfaithai.com และวิดีโอในยูทูป ซึ่งคำบรรยายระบุว่า ภาพและวิดีโอเหล่านี้ถูกบันทึกได้ในวันที่ 5 ธันวาคม 2555 (ลิงค์บันทึกที่นี่ และนี่)
นอกจากนี้ สำนักข่าวไทยอย่างโพสต์ทูเดย์ ผู้จัดการ และวอยซ์ทีวี ได้รายงานว่า จะมีพิธีปล่อยขบวนรถจักรไอน้ำเฉลิมพระเกียรติ เส้นทางกรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยาในวันที่ 5 ธันวาคม 2555 (ลิงค์บันทึกที่นี่ นี่ และนี่)
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่อ้างว่าสะพานที่ยาวที่สุดของประเทศไทยเป็นผลงานของรัฐบาลประยุทธ์
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา