
โพสต์ปลอมอ้าง 'ประโยชน์ด้านสุขภาพ' จากการดื่มคลอรีนไดออกไซด์
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 21 กันยายน 2566 เวลา 11:30
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Panisa AEMOCHA, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างดังกล่าวถูกแชร์บนเฟซบุ๊กที่นี่ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566
โพสต์ดังกล่าวแชร์รูปพร้อมข้อความระบุว่า "CDS Chlorine Dioxide Solution มีคุณสมบัติ 1. กำจัดสารพิษ 2. ทำให้ร่างกายมีออกซิเจนสูง 3. เลือดใส กระจายตัว 4. ฆ่าเชื้อโรคได้ทุกชนิด โดยไม่ต้องหาว่าเป็นเชื้ออะไร"
โพสต์ดังกล่าว ซึ่งถูกแชร์ต่ออีกหลายครั้ง ยังระบุอีกว่า สารคลอรีนไดออกไซด์มีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งการรักษามะเร็ง การกำจัดโรคที่เกิดจากเชื้อรา และ "การปรับสมดุลของร่างกายตามธรรมชาติ"

คลอรีนไดออกไซด์เป็นก๊าซที่มีสีเหลืองไปจนถึงแดงอมเหลือง สามารถสลายตัวได้อย่างรวดเร็วในอากาศและละลายน้ำได้ หน่วยงานด้านสารพิษและทะเบียนโรคแห่งสหรัฐอเมริการะบุ (ลิงค์บันทึก)
คลอรีนไดออกไซด์มักถูกใช้ในเป็นสารฟอกขาวในอุตสาหกรรมผลิตกระดาษหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้กระดาษ เนื่องจากสารดังกล่าวคุณสมบัติกำจัดแบคทีเรียและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในน้ำ ดังนั้น มันจึงถูกใช้ในปริมาณน้อยเพื่อปรับคุณภาพน้ำดื่ม และเพื่อฆ่าเชื้อตามตึกอาคารต่างๆ
คลอรีนไดออกไซด์เคยถูกกล่าวอ้างว่า สามารถใช้รักษาโรคโควิด-19 ซึ่ง AFP ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่นี่
โพสต์เท็จที่คล้ายกันยังถูกแชร์ในเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ และ นี่ และติ๊กตอกที่นี่ และ นี่
คอมเมนต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊กแสดงให้เห็นว่ามีคนเชื่อคำกล่าวอ้างเท็จดังกล่าว
"อยากให้ทุกคนเปิดใจดื่มcds แล้วสูขภาพจะดีขึ้นคะ เราเคยไม่เชื่อแต่สูขภาพไม่ค่อยดีเลยเปิดใจลอง ไม่มีอะไรจะต้องกลัวอีกแล้ว ดื่มมา5เดือนแล้วสูขภาพดีเยอะ" คอมเมนท์หนึ่งระบุ
ขณะที่อีกคนเขียนว่า "อันนี้คือที่สุดของที่สุด ไม่มีอะไรดีกว่านี้แล้ว"
อย่างไรก็ตาม การรับประทานสารคลอรีนไดออกไซด์เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในไทยและองค์กรสุขภาพนานาชาติได้ออกมาเตือนว่า หากได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้
ใช้กับมนุษย์ไม่ได้
ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ศาสตราจารย์วิชาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 19 กันยายนว่า สารละลายดังกล่าว "ไม่ได้มีไว้ใช้กับมนุษย์" (ลิงค์บันทึก)
"มันไม่ควรใช้กับมนุษย์เพราะมันจะทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อ" ธีรยุทธกล่าว
คำกล่าวอ้างเท็จเกี่ยวกับสารละลายคลอรีนไดออกไซด์ว่ามีประโยชน์ในการรักษาโรคนั้นถูกส่งต่อกันมานานนับทศวรรษ นอกจากนี้ สารดังกล่าวยังถูกอ้างว่าสามารถรักษาการติดเชื้อเอชไอวีและต้านไวรัสโควิดด้วย ธีรยุทธกล่าวเสริม
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างนี้ และเผยแพร่ในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 (ลิงค์บันทึก)
โพสต์ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมระบุว่า สารละลายคลอรีนไดออกไซด์ไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียนใช้งานอย่างเป็นทางการจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย (อย.) เนื่องจากมีความเสี่ยง
เป็นพิษหากรับประทาน
องค์การอนามัยแพนอเมริกัน (PAHO) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุขภายใต้องค์การอนามัยโลก ได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับการใช้สารละลายคลอรีนไดออกไซด์
รายงานเตือนที่ตีพิมพ์เมื่อสิงหาคม 2563 ระบุว่า สารละลายคลอรีนไดออกไซด์นั้น "เป็นพิษหากรับประทาน และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงหลายอย่าง" (ลิงค์บันทึก)
ผลข้างเคียงดังกล่าวได้แก่ ระคายเคืองในช่องปาก หลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร รวมไปถึงความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารในระดับรุนแรง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย PAHO ระบุ
นอกจากนี้ การรับประทานสารละลายประเภทโซเดียมคลอไรด์สามารถนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตตก ซึ่งอาจส่งผลให้ระบบลำเลียงออกซิเจนในเลือดทำงานผิดปกติ และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนในระบบเดินหายใจเป็นอันดับต่อมา ซึ่งขัดแย้งกับคำกล่าวอ้างในโพสต์เท็จ
นอกจากนี้ PAHO ยังเตือนว่า มีรายงานว่าพบความเสียหายของหัวใจและตับในผู้ป่วยที่รับประทานคลอรีนไดออกไซด์เข้าไป
หน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศสหรัฐอเมริกา สเปน เอกวาดอร์ และในอีกหลายประเทศต่างออกมาเตือนประชาชนไม่ให้รับประทานคลอรีนไดออกไซด์ (ลิงค์บันทึกที่นี่ นี่ และ นี่)
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา