
ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในไทยแชร์ภาพและคำกล่าวอ้างเท็จว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อ "แบคทีเรียกินเนื้อ"
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 2 ตุลาคม 2566 เวลา 08:30
- อัพเดตแล้ว วันที่ 2 ตุลาคม 2023 เวลา 08:31
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP Thailand
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"เชื้อ vibrio valnificus ระยองมีแล้ว 2 ราย ตายทั้ง 2 ราย ในหอยแครงหอยแมลงภู่ สุกๆดิบๆ อาหารทะเล" โพสต์เฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายในภาษาไทยเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566
โพสต์ดังกล่าวยังเผยให้เห็นภาพลำตัวของผู้ป่วยคนหนึ่งที่ผิวหนังเริ่มมีสีคล้ำ โดยคำบรรยายอ้างว่ามีผู้ป่วยสองคนติดเชื้อ Vibrio vulnificus ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในน้ำทะเลและน้ำกร่อย
ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่าเชื้อ Vibrio vulnificus สามารถแพร่สู่คนได้ผ่านทางบาดแผลระหว่างว่ายน้ำ หรือผ่านการบริโภคอาหารทะเลดิบหรือปรุงไม่สุก (ลิงค์บันทึก)
บริเวณแผลจะเกิดอาการเนื้อตาย ในกรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "แบคทีเรียกินเนื้อ" ที่สื่อบางแห่งใช้เรียก
"รพ. ระยอง 1 ราย รพ. แกลง 1 ราย" โพสต์เดิมเขียนต่อถึงผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ต่อมากกว่า 100 ครั้ง
โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์หลัง CDC ประกาศคำเตือนเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 ว่าพบชาวอเมริกันอย่างน้อย 12 คนที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อ Vibrio vulnificus ในปี 2566 (ลิงค์บันทึกที่นี่ และ นี่)
โพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันยังถูกแชร์ในเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ และ นี่ และสร้างความหวาดกลัวในหมู่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยเกี่ยวกับการบริโภคอาหารทะเล
"เลิกกินหอยไปตลอดชีวิต" ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งระบุในช่องแสดงความคิดเห็น
"พักซีฟู้ดยาวๆ" อีกความคิดเห็นหนึ่งระบุ
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในจังหวัดระยองกล่าวกับ AFP ว่า คำกล่าวอ้างนั้นว่ามีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ 2 รายในระยองนั้นเป็นเท็จ และภาพในโพสต์นั้นเป็นภาพเก่าของผู้ป่วยจากพิษแมงกะพรุนในปี 2563
ไม่มีผู้เสียชีวิตในระยอง
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองได้ปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าวผ่านเพจเฟซบุ๊ก โดยเรียกคำกล่าวอ้างนั้นว่าเป็น "เฟคนิวส์" (ลิงค์บันทึก)
"ภาพดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับข่าวแบคทีเรียกินเนื้อคนของ CDC" สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองระบุ
ในวันเดียวกัน สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ได้ออกแถลงการณ์คล้ายๆ กัน (ลิงค์บันทึก)
แพทย์สาธารณสุขจังหวัดระยองได้ให้สัมภาษณ์กับ AFP ว่า "ปีนี้ไม่มีรายงานการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่รับประทานอาหารทะเลสุกๆ ดิบๆ"
"ยืนยันว่าในตอนนี้ ยังไม่พบผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อ Vibrio vulnificus ตามที่อ้างกันในโซเชียลมีเดีย" นายแพทย์สุนทร เหรียญภูมิการกิจกล่าว
พิษแมงกะพรุน
นอกจากนี้ AFP พบว่าภาพถ่ายที่ปรากฏในโพสต์เท็จนั้นเป็นภาพของชาวประมงไทยที่สัมผัสพิษแมงกะพรุนเมื่อ 3 ปีก่อน
การค้นหาด้วยคำสำคัญในกูเกิลเผยให้เห็นว่า ภาพลำตัวของชาวประมงที่ผิวหนังเริ่มเปลี่ยนสีนั้นถูกถ่ายจากมุมที่ต่างออกไปเล็กน้อยจากภาพที่ถูกเผยแพร่ในรายงานข่าวในเดือนกรกฎาคม 2563
รายงานข่าวที่นี่ และ นี่ ระบุว่า ชายวัย 49 ปีกำลังออกไปหาปลา ก่อนจะสัมผัสกับพิษแมงกะพรุนไฟ และเสียชีวิตเพราะติดเชื้อในกระแสเลือดในเวลาต่อมา (ลิงค์บันทึกที่นี่ และ นี่)
ชายคนดังกล่าวเสียชีวิตที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง โดยแถลงการณ์จากโรงพยาบาลแกลงในจังหวัดระยองได้ยืนยันกับ AFP ในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 ว่า ภาพที่ถูกเผยแพร่ในเฟซบุ๊กนั้นเป็นภาพของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากพิษแมงกะพรุน
"ผู้ป่วยที่ไปสัมผัสแมงกะพรุน เป็นชาอายุ 49 ปีเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแกลงเมื่อวันที่ 23 กรกฏาคม 2563 และได้ส่งต่อไปโรงพยาบาลระยองเมื่อวันที่ 23 กรกฏาคม 2563" แถลงการณ์ระบุ
"จากการติดตามผลการรักษา ผู้ป่วยเสียชีวิตที่โรงพยาบาลระยองเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563" แถลงการณ์ระบุต่อ
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพถ่ายลำตัวของผู้ป่วยในรายงานข่าว (ขวา):
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา