ภาพถ่ายในกรีนแลนด์ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดว่า เป็นภาพดอกไม้บานในทวีปแอนตาร์กติกา

หลังนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพืชพรรณในทวีปแอนตาร์กติกา ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนหนึ่งได้แชร์ภาพถ่ายพร้อมคำกล่าวอ้างที่ผิดว่า ภาพที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทวีปแอนตาร์กติกา อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวไม่ได้มาจากทวีปแอนตาร์กติกาหรือขั้วโลกใต้ แต่เป็นภาพถ่ายจากประเทศกรีนแลนด์ที่อยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่าดอกไม้ในภาพไม่ได้โตในทวีปแอนตาร์กติกา หรือขั้วโลกใต้

"พืชกำลังออกดอกในทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องดี" พาดหัวบทความหนึ่งระบุ บทความดังกล่าวถูกตีพิมพ์ทางเว็บไซต์เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566

"การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้พืชดอกสองชนิดในทวีปแอนตาร์กติกาเติบโตเร็วกว่าที่เคย" บทความดังกล่าวระบุต่อในส่วนเนื้อหา

ภาพและคำกล่าวอ้างคล้ายกันนี้ยังถูกเผยแพร่ในเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ และ นี่ ติ๊กตอกที่นี่ และ X (ก่อนหน้านี้คือทวิตเตอร์) ที่นี่

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของบทความที่แชร์ภาพที่ทำให้เข้าใจผิด

นอกจากนี้ ภาพและคำกล่าวอ้างเดียวกันยังถูกแชร์อย่างแพร่หลายในภาษาอังกฤษที่นี่ นี่ และ นี่

โพสต์หนึ่งที่แชร์ภาพและคำกล่าวอ้างดังกล่าวได้อ้างอิงถึงรายงานที่เผยแพร่ในปี 2565 โดยนิโคเล็ตต้า แคนนัน นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอินซูเบรีย (ลิงค์บันทึก)

AFP ได้ติดต่อไปหาแคนนัน เธอกล่าวว่า การแชร์ภาพและคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นการพูดถึงงานศึกษาของเธอแบบ "ผิวเผิน" เท่านั้น ส่วนคำว่า "ดอกไม้" ที่แพร่ในคำกล่าวอ้างนั้นก็ไม่ได้นำเสนองานศึกษาของเธออย่างถูกต้อง เนื่องจากงานศึกษาของเธอนั้นเน้นศึกษา "พืชมีท่อลำเลียง" (ลิงค์บันทึก)

รายงานของแคนนันยังระบุว่า ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา บริเวณคาบสมุทรแอนตาร์กติกาได้มี “อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นอย่างรุนแรง” ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สูงกว่าระดับภาวะโลกร้อนโดยเฉลี่ย และส่งผลกระทบต่อพืชมีท่อลำเลียงสองชนิดในทวีปแอนตาร์กติกา

"พืชในภาพไม่ได้ถูกถ่ายในทวีปแอนตาร์กติกา" แคนนันกล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566

พืชอาร์กติก

การค้นหาภาพแบบย้อนหลังพบว่าภาพถ่ายดังกล่าว เป็นภาพที่ถ่ายจากประเทศกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเดนมาร์ก

ภาพถ่ายเดียวกันถูกเผยแพร่อยู่ในคลังภาพของเว็บไซต์ Alamy และถูกเผยแพร่ก่อนรายงานของของแคนนันถึง 5 ปีด้วยกัน (ลิงค์บันทึก)

"ภูเขาน้ำแข็งลอยอยู่นอกชายฝั่งกรีนแลนด์ ดอกไม้บนชายฝั่ง ธรรมชาติและภูมิทัศน์ของกรีนแลนด์" คำบรรยายของภาพถ่ายดังกล่าวระบุเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของภาพถ่ายดอกไม้และภูเขาน้ำแข็งในกรีนแลนด์ ภาพดังกล่าวปรากฏในเว็บไซต์ Alamy ( Manon JACOB)

แคทรีน รอนดรับ นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันทรัพยากรธรรมชาติกรีนแลนด์ ยืนยันข้อมูลเพิ่มเติมกับ AFP เมื่อวันที่ 27 กันยายนว่า "ดอกไม้สายพันธุ์ที่ปรากฏในภาพ มักพบทั่วไปในกรีนแลนด์"

กรีนแลนด์เป็นเกาะที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอาร์กติก ซึ่งอยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือ (ลิงค์บันทึก) ขณะที่ภาพและรายงานของแคนนันเป็นการศึกษาเกี่ยวกับพืชที่โตในระบบนิเวศที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของขั้วโลกใต้

มิคโค ทิวซาเนน นักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมในพืชและแมลงผสมเกสรในทวีปอาร์กติก ให้สัมภาษณ์กับ AFP เมื่อวันที่ 27 กันยายนว่า สายพันธุ์ของดอกไม้ในภาพน่าจะเป็น Silene acaulis (ลิงค์บันทึก) และ Saxifraga cespitosa (ลิงค์บันทึก) ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์นี้ "สามารถพบได้ทั่วไปในหลายๆ พื้นที่ในแถบซีกโลกเหนือ แต่ไม่โตในทวีปแอนตาร์กติกา"

Image
ภาพเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 ซึ่งแสดงให้เห็นพืชพรรณในเกาะคูลูซุก ในเขตเทศบาลเซอร์เมอร์ซูค บนชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะกรีนแลนด์ ( AFP / JONATHAN NACKSTRAND)

ปีเตอร์ คอนเวย์ นักนิเวศวิทยาภาคพื้นดินประจำหน่วยสำรวจแอนตาร์กติกของอังกฤษ กล่าวเมื่อวันที่ 26 กันยายนว่า "แม้แต่หมู่เกาะย่อยแอนตาร์กติก ที่มีอากาศอุ่นกว่า และมีพืชพรรณมากกว่า ก็ยังไม่พบพืชพื้นเมืองที่ใช้แมลงผสมเกสร ดังนั้น จึงไม่ปรากฏว่ามีดอกไม้กลีบสีฉูดฉาดแบบนั้นเพื่อดึงดูดแมลงในทวีปแอนตาร์กติกา"

นอกจากนี้ คอนเวย์ยังกล่าวเสริมว่า ในขณะที่มีการพบว่าพืชพรรณพื้นเมืองได้เติบโตและขยายพันธุ์ ข้อเท็จจริงดังกล่าวมักถูกตีความว่าเป็นการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทวีปแอนตาร์กติกา แต่ในความเป็นจริงแล้ว พืชพรรณเหล่านั้นมีถิ่นกำเนิด "อยู่ในทวีปแอนตาร์กติกาอยู่แล้ว ซึ่งมักพบได้ตามคาบสมุทรแอนตาร์กติก และตอนนี้พืชพรรณเหล่านั้นกำลังเบ่งบานพอดี"

แม้สื่อสังคมออนไลน์จะแชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิด ทั้งกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาต่างก็สูญเสียมวลแผ่นน้ำแข็งอย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราการสูญเสียสูงสุดที่สังเกตได้นั้นเกิดในช่วงปี 2553-2562 และคาดว่าจะยังเกิดการสูญเสียมวลแผ่นน้ำแข็งต่อไปในอนาคตเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ข้อมูลดังกล่าวอ้างอิงจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติ (ลิงค์บันทึก)

อ่านรายงานเพิ่มเติมของ AFP ที่ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา