โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์อ้างนายกฯ ไทยเตรียมอนุมัติให้กาสิโนและเว็บพนันถูกกฎหมาย

  • เผยแพร่ วัน 5 ตุลาคม 2023 เวลา 12:18
  • อัพเดตแล้ว วัน 5 ตุลาคม 2023 เวลา 12:21
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยได้แชร์ภาพถ่ายของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของไทย พร้อมคำกล่าวอ้างว่า เขาเตรียมอนุมัติให้กาสิโนและเว็บพนันออนไลน์ถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเท็จ ข้อความถูกเติมเข้าไปในภาพที่ถูกเผยแพร่โดยเศรษฐาและสำนักข่าวไทย โดยเนื้อหาเดิมไม่เกี่ยวข้องกับกาสิโนหรือเว็บพนัน นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐบาลได้ออกมาปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าวและเรียกโพสต์เหล่านั้นว่าเป็น "ข่าวปลอม"

ภาพถ่ายของเศรษฐาสวมเสื้อสีน้ำเงินถูกโพสต์ในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 พร้อมข้อความภาษาไทยว่า “เว็บพนันออนไลน์ เฮ!! นายกฯ เตรียมแผนอนุมัติ บ่อนคาสิโน เปิดเว็บพนันถูกกฎหมาย เสียภาษีให้รัฐบาล 30% สร้างอาชีพ หารายได้เข้าประเทศ”

โพสต์ดังกล่าวเขียนคำบรรยายในเชิงสนับสนุนแผนอนุมัติ และถูกแชร์ต่ออีกกว่า 2,500 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

บางโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันนี้ ได้แสดงท่าทีไม่สนับสนุน "แผนอนุมัติให้เว็บพนันถูกกฎหมายในประเทศไทย"

โพสต์เฟซบุ๊กที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 กันยายนได้แชร์อีกภาพหนึ่งของเศรษฐา ซึ่งกำลังสวมสูทสีน้ำเงินและผูกเนคไทสีเหลือง ข้อความในภาพระบุว่า "ภายใน 2 สัปดาห์ นายกฯ เตรียมประชุมครม. อนุมัติตั้งคาสิโนในประเทศไทย พนันออนไลน์ ถูกกฎหมาย"

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า: "เรื่องตั้งบ่อน! มันจำเป็นมากหรอ มันพัฒนาชาติได้เหรอ มันพัฒนาชาติได้หรอ ทำไมไม่คิดอะไรทีดีกว่าเรื่องแบบนี้ มอมเมาประชาชนจริงๆ"

เมื่อวันที่ 28 กันยายน ยังพบอีกโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์ภาพเดียวกัน แต่เขียนบรรยายในเชิงเสียดสีว่า "เปิดกัญชาเสรีมีให้เห็น ต่อไปเป็นการพนันมันส์อักโข เพื่อไทยคิดขานไขการใหญ่โต แหมมันโก้เปิดบ่อนเข้าออนไลน์ #เย้เย้เย้"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ หลังสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีมติไม่ให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้รับคะแนนเห็นชอบที่มากพอให้เป็นนายกฯ แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฏรเป็นอันดับหนึ่งจากการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม

ในเดือนสิงหาคม พรรคเพื่อไทย ซึ่งได้คะแนนเป็นอันดับสอง ได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองสนับสนุนกองทัพไทย โดยที่ประชุมสภาได้มีมติเห็นชอบให้เศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี (ลิงค์บันทึก)

อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อธิบายว่ารัฐบาลของเพื่อไทยจะไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมอยู่ด้วย

AFP รายงานว่า การตัดสินใจดังกล่าวของพรรคเพื่อไทยส่งผลให้ผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันหน้าที่ทำการของพรรคเพื่อไทย โดยพวกเขาได้โปรยกระดาษที่มีภาพของชลน่าน พร้อมข้อความที่ระบุว่า "ชลน่านลาออกกี่โมง"

คำกล่าวอ้างเท็จเดียวกันยังถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่ นี่ และ นี่

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยได้ออกมาปฏิเสธว่า ปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีไม่ได้มีแผนอนุมัติให้กาสิโนหรือเว็บพนันถูกกฎหมายในประเทศไทย

ภาพที่มีข้อความเท็จ

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดและโฆษกของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเมื่อวันที่ 20 กันยายนว่า คำกล่าวอ้างที่แพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์นั้น "ไม่เป็นความจริง" และเป็น "ข้อมูลเท็จ"

"ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้มีการเตรียมแผนอนุมัติ หรือการดำเนินนโยบายเปิดบ่อนกาสิโน/เว็บพนันถูกกฎหมาย เสียภาษี 30% ตามที่ถูกกล่าวอ้างแต่อย่างใด" ข้อความในแถลงการณ์ระบุ โดยแถลงการณ์ถูกเผยแพร่ทั้งในเว็บไซต์ของทำเนียบรัฐบาลไทย และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของประเทศไทย (ลิงค์บันทึกที่นี่ และ นี่)

นอกจากนี้ AFP ยังพบว่า ภาพถ่ายทั้งสองภาพในโพสต์เท็จนั้นถูกดัดแปลงจากภาพข่าวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกาสิโนหรือเว็บพนัน

ภาพเศรษฐาสวมเสื้อเชิ้ตสีน้ำเงินได้ปรากฏในโพสต์เฟซบุ๊กของเศรษฐาเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 (ลิงค์บันทึก)

คำบรรยายในโพสต์ดังกล่าวระบุว่า เศรษฐาเตรียมผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมัน เปิดให้นักท่องเที่ยวจีนเข้าประเทศไทยโดยไม่ต้องขอวีซ่า และปรับการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็น 2 รอบต่อเดือน เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 โดยเศรษฐาไม่ได้กล่าวถึงแผนอนุมัติให้กาสิโนและเว็บพนันถูกกฎหมายแต่อย่างใด

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และโพสต์เฟซบุ๊กของเศรษฐา (ขวา)

Image
เปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และโพสต์เฟซบุ๊กของเศรษฐา (ขวา)

เมื่อวันที่ 13 กันยายน สำนักข่าวไทยพีบีเอส และรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ยังได้เผยแพร่ภาพเศรษฐาสวมเสื้อสีน้ำเงินซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับภาพในโพสต์เท็จ (ลิงค์บันทึกที่นี่ และ นี่)

อีกภาพของเศรษฐาที่ผูกเนคไทสีเหลืองนั้นปรากฏในโพสต์เฟซบุ๊กของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 (ช่อง 7HD) เมื่อวันที่ 15 กันยายน (ลิงค์บันทึก) ภาพดังกล่าวเผยให้เห็นเศรษฐาสวมสูทและผูกเนคไทสีเหลือง ซึ่งตรงกันกับภาพในโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

ข้อความในภาพของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ระบุว่า เศรษฐาเตรียมชี้แจงที่มาของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตภายในสองสัปดาห์ โดยนโยบายดังกล่าวระบุว่าจะโอนเงินดิจิทัลจำนวน 10,000 บาทให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของเศรษฐา (ลิงค์บันทึก)

หลังภาพพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จแพร่กระจายในสื่อสังคมออนไลน์ สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 เมื่อวันที่ 27 กันยายนได้โพสต์ในเพจเฟซบุ๊กว่า ภาพเศรษฐาถูกดัดแปลงแก้ไขโดยมีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ข่าวเท็จ (ลิงค์บันทึก)

โพสต์ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ระบุว่า ภาพข่าวที่ปรากฏในโพสต์ข่าวของช่อง 7 "ไม่มีข้อความว่า 'นายกฯเตรียมประชุม ครม. อนุมัติตั้งคาสิโนในประเทศ พนันออนไลน์ ถูกกฎหมาย' ในบรรทัดที่ 2 และ 3 แต่อย่างใด”

"การนำภาพข่าว และดัดแปลงข้อความดังกล่าว มิได้เป็นการนำเสนอจาก กองบรรณาธิการข่าวออนไลน์ ฝ่ายข่าว ช่อง 7HD แต่อย่างใด" โพสต์ดังกล่าวระบุต่อ

ด้านล่างคือภาพเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จเท็จ (ซ้าย) กับเฟซบุ๊กของสถานีโททัศน์ช่อง 7 เมื่อวันที่ 15 กันยายน (ขวา):

Image
A screenshot comparison between the false post (left) and Channel 7's Facebook on Sept. 15 (right)

AFP ไม่พบรายงานข่าวที่น่าเชื่อถือที่ระบุว่าประเทศไทยเตรียมอนุมัติให้กาสิโนและเว็บพนันถูกกฎหมาย

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา