วิดีโอนี้แสดงให้เห็นการฝึกซ้อมของทหารพลร่มในอียิปต์ ไม่ใช่นักรบฮามาสที่บุกโจมตีอิสราเอล

  • เผยแพร่ วัน 19 ตุลาคม 2023 เวลา 06:51
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
  • แปลและดัดแปลง โดย Panisa AEMOCHA
กลุ่มกองกำลังติดอาวุธฮามาสได้บุกโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ซึ่งรวมไปถึงการโจมตีด้วยอากาศยานขนาดเล็กอย่างพารามอเตอร์ ที่ถูกปล่อยลงสู่พื้นที่ในฉนวนกาซา เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์วิดีโอกลุ่มคนกระโดดร่มชูชีพเหนืออาคารขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นภาพการโจมตีจากกลุ่มฮามาส อย่างไรก็ตามคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเท็จ วิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นกลุ่มทหารพลร่มที่วิทยาลัยฝึกทหารในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์

คำบรรยายโพสต์เท็จเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ในติ๊กตอกระบุว่า "นักรบ #ฮามาส ใช้เครื่องร่อนเพื่อเข้า #อิสราเอล"

ข้อความที่ปรากฎอยู่ในวิดีโอยังระบุเพิ่มว่า "กลุ่มฮามาสใช้เครื่องร่อนเพื่อก่อการร้ายในอิสราเอล"

วิดีโอดังกล่าวมีผู้รับชมมากกว่า 6.5 ล้านครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ

ก่อนหน้าวิดีโอดังกล่าวเผยแพร่ในโลกออนไลน์เพียง 2 วัน กลุ่มฮามาสซึ่งเป็นกลุ่มกองกำลังทางทหารปาเลสไตน์ได้บุกโจมตีอิสราเอล ซึ่งนับว่าเป็นการโจมตีที่มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบหลายปี โดยส่งผลให้ประชาชนนับหลายพันคนถูกสังหารบนท้องถนน ในงานเทศกาลดนตรี และในบ้านของพวกเขาเอง ในขณะเดียวกัน ชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติราว 150 คนถูกจับเป็นตัวประกัน (ลิงค์บันทึก)

กลุ่มฮามาสเป็นกลุ่มที่ปกครองพื้นที่ฉนวนกาซา ซึ่งมีชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น โดยพื้นที่แห่งนี้ถูกปิดล้อมทั้งจากทางบก อากาศ และทะเลตั้งแต่ปี 2549

การโจมตีที่ไม่คาดคิดครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลารุ่งสาง นักรบฮามาสนับหลายร้อยคนได้ข้ามชายแดนเข้ามายังฝั่งอิสราเอล และยิงจรวดจำนวนมากจากกาซา (ลิงค์บันทึก)

รัฐบาลอิสราเอลตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศไปยังที่ตั้งของกลุ่มฮามาสในกาซา และได้ตัดช่องทางการส่งเสบียงอาหาร น้ำ และไฟฟ้า ข้อมูลจากทางการระบุ ล่าสุดมีรายงานว่า จำนวนผู้เสียชีวิตในพื้นที่กาซานั้นพุ่งสูงเกิน 1,500 รายแล้ว โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตมีแน้วโน้มจะเพิ่มขึ้นจากทั้งสองฝั่ง

Image
แผนที่แสดงให้เห็นพื้นที่ในฉนวนกาซาและเมืองใกล้เคียงของอิสราเอล

วิดีโอเดียวกันนี้ยังถูกแชร์อย่างแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยที่นี่ นี่ และ นี่ รวมถึงในต่างประเทศที่นี่ นี่ และ นี่

ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ส่วนหนึ่งเชื่อว่าวิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นกลุ่มกองกำลังฮามาสใช้เครื่องร่อนจริง

"เกมนี้ ไม่ต้องหาปืนแล้ว มีติดตัวแล้ว พร้อมบวก สู้ๆฮามาส ไปได้เราก็อยากไปช่วยเหมือนกัน ดูพีน้องมุสลิมถูกรังแกไม่ได้" ผู้ใช้งานคนหนึ่งเขียนคำบรรยาย

"เหมือนแสดงหนังเลยแต่มันคือเรื่องจริงหรือนี่" ผู้ใช้งานอีกคนระบุ

แม้กลุ่มฮามาสส่วนหนึ่งจะข้ามชายแดนมาทางอากาศจริง แต่วิดีโอในโพสต์ดังกล่าวเป็นภาพทหารพลร่มที่วิทยาลัยฝึกทหารอียิปต์ ไม่ใช่การโจมตีของกลุ่มฮามาส

วิดีโอจากอียิปต์

ทีมข่าวตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างดังกล่าว และพบว่าวิดีโอดังกล่าวถูกถ่ายในประเทศอียิปต์ ไม่ใช่อิสราเอล (ลิงค์บันทึก)

จากการค้นหาภาพย้อนกลับ AFP พบว่า วิดีโอดังกล่าวถูกถ่ายบริเวณหน้าวิทยาลัยฝึกทหาร ณ กรุงไคโร ประเทศอียิฟต์ โดยสามารถดูด้านหน้าของอาคารดังกล่าวได้ในแผนที่กูเกิล (ลิงค์บันทึก)

อาคารดังกล่าวมีลักษณะบ่งชี้หลายจุด เช่น ป้ายอาคารที่ระบุว่า "วิทยาลัยการทหาร" ในภาษาอารบิก รวมไปถึงสัญลักษณ์ของวิทยาลัย และธงชาติของประเทศอียิปต์

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างอาคารในคลิปที่ถูกแชร์พร้อมกล่าวอ้างเท็จ (ขวา) กับอาคารของวิทยาลัยการทหารในกรุงไคโรโดยเป็นภาพจากแผนที่กูเกิล (ซ้าย) โดย AFP ได้ทำสัญลักษณ์จุดบ่งชี้ที่เหมือนกันไว้ 2 แห่ง คือ ธงชาติอียิปต์ และสัญลักษณ์ของวิทยาลัย

Image
เปรียบเทียบระหว่างอาคารในคลิปที่ถูกแชร์พร้อมกล่าวอ้างเท็จ (ขวา) กับอาคารของวิทยาลัยการทหารในกรุงไคโรโดยเป็นภาพจากแผนที่กูเกิล (ซ้าย) โดย AFP ได้ทำสัญลักษณ์จุดบ่งชี้ที่เหมือนกันไว้ 2 แห่ง คือ ธงชาติอียิปต์ และสัญลักษณ์ของวิทยาลัย

หลังใช้ภาพถ่ายหน้าจอในการค้นหาภาพถ่ายแบบย้อนหลัง AFP พบวิดีโอต้นฉบับที่มีความยาวกว่าวิดีโอที่ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จ โดยวิดีโอต้นฉบับดังกล่าวนี้ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2566 ซึ่งเป็นระยะเวลาราวสองสัปดาห์ก่อนเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาส และคลิปดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงอิสราเอลหรือกลุ่มฮามาสแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม AFP ไม่สามารถระบุได้ว่าวิดีโอดังกล่าวถูกถ่ายขึ้นเมื่อไร

การต่อสู้ของอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสทำให้เกิดกระแสข่าวปลอมในสื่อสังคมออนไลน์ โดยผู้อ่านสามารถติดตามรายงานของ AFP ในภาษาอังกฤษได้ที่นี่ และภาษาไทยที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา