โพสต์เท็จแชร์วิดีโอของชาวแอลจีเรียที่จุดพลุเฉลิมฉลอง พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นการโจมตีของอิสราเอลในฉนวนกาซา

หลังจากที่อิสราเอลถูกกลุ่มติดอาวุธฮามาสโจมตีครั้งใหญ่ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2566 ความขัดแย้งได้ยกระดับไปสู่สงครามรอบใหม่ที่ทำให้เกิดการนองเลือดที่มีผู้เสียชีวิตหลายพัน โดยมีประชาชนถูกจับเป็นตัวประกันอีกราว 150 คน คลิปวิดีโอที่ทำให้เข้าใจผิดได้ถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์พร้อมคำอ้างว่าเป็นการโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซา อย่างไรก็ตามคลิปวิดีโอนี้เป็นการจุดพลุฉลองในประเทศแอลจีเรีย และเกิดขึ้นก่อนการต่อสู้ระลอกล่าสุด

"สยอง! อิสราเอลทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายในฉนวนกาซาตอนเหนือ" โพสต์เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2023 เขียนคำบรรยายใน X ซึ่งก่อนหน้านี้ชื่อทวิตเตอร์

โพสต์ดังกล่าวแชร์วิดีโอยาว 13 วินาที ซึ่งแสดงให้เห็นภาพเมืองหนึ่งที่ลุกโชนด้วยสีแดง และเห็นลำแสงพุ่งออกจากหลังคาบ้านเรือน

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ

วิดีโอและคำกล่าวอ้างคลายๆ กันนี้ยังถูกเผยแพร่ในภาษาไทยที่นี่ และ นี่ รวมถึงภาษาอื่นๆ เช่น สเปน เยอรมัน โปรตุเกส และ มาเลย์ โดยโพสต์เหล่านี้ปรากฏขึ้นหลังกลุ่มติดอาวุธฮามาสโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566

การโจมตีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ ใช้ทั้งการยิงขีปนาวุธและการส่งนักรบติดอาวุธเข้าไปกราดยิงประชาชนและจับตัวประกันราว 150 คน ซึ่งรวมถึงชาวอิสราเอล ผู้ถือสองสัญชาติ และชาวต่างชาติ (ลิงค์บันทึกที่นี่ และ นี่)

ในวันรุ่งขึ้น อิสราเอลได้ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ โดยกองทัพอิสราเอลได้เริ่มปฏิบัติการโจมตีฉนวนกาซาและเคลื่อนกองกำลังทหารไปอยู่บริเวณดินแดนปาเลสไตน์และชายแดนทางตอนเหนือที่ติดกับประเทศเลบานอน ความขัดแย้งดังกล่าวได้คร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันคน (ลิงค์บันทึก)

อย่างไรก็ตาม วิดีโอดังกล่าวถูกบันทึกไว้ได้ก่อนหน้าที่จะเกิดการโจมตีของฮามาส และแสดงภาพการจุดดอกไม้ไฟเฉลิมฉลองในประเทศแอลจีเรีย

วิดีโอจากแอลจีเรีย

การค้นหาด้วยคำสำคัญเผยให้เห็นวิดีโอที่คล้ายๆ กันในหลายโพสต์ที่นี่ และ นี่ (ลิงค์บันทึกที่นี่ และ นี่) ซึ่งเผยให้เห็นเหตุการณ์แฟนฟุตบอลจุดพลุดอกไม้ไฟในเมืองแอลเจียร์ เมืองหลวงของประเทศแอลจีเรีย หลังสโมรสรฟุตบอลแอลจีเรียชื่อ ซีอาร์ เบลูอิซดัด (CR Belouizdad) สามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลแอลจีเรียได้ในปี 2563 และ 2566 (ลิงค์บันทึกที่นี่ และ นี่)

AFP สามารถระบุสถานที่ที่ปรากฏในคลิปวิดีโอได้ ซึ่งรวมไปถึงวงเวียนที่มีหญ้า และป้ายโฆษณาที่ติดไฟอยู่ที่ขอบป้าย ในเมืองแอลเจียร์ประเทศแอลจีเรีย

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และพิกัดทางภูมิศาสตร์ของวงเวียนแห่งหนึ่งในเมืองแอลเจียร์ เมืองหลวงของประเทศแอลจีเรีย (ขวา):

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์วิดีโอและคำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และพิกัดทางภูมิศาสตร์ของวงเวียนแห่งหนึ่งในเมืองแอลเจียร์ เมืองหลวงของประเทศแอลจีเรีย (ขวา)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) กับพิกัดทางภูมิศาสตร์ของอาคารที่ติดป้ายโฆษณาที่ติดไฟตรงขอบป้ายในแผนที่กูเกิล (ขวา):

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์วิดีโอและคำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย)

 

 

ความขัดแย้งระลอกล่าสุดอิสราเอลและปาเลสไตน์ทำให้เกิดคำกล่าวอ้างเท็จจำนวนมากในสื่อสังคมออนไลน์ สามารถอ่านรายงานตรวจสอบของ AFP ได้ที่นี่ นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา