โพสต์เท็จแชร์คำกล่าวอ้างว่าการกางร่มในสถานีรถไฟฟ้าเสี่ยงถูก "ไฟดูดจนเสียชีวิต"

  • เผยแพร่ วัน 24 ตุลาคม 2023 เวลา 10:55
  • อัพเดตแล้ว วัน 25 ตุลาคม 2023 เวลา 05:13
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
โปสเตอร์คำแนะนำสำหรับผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสในกรุงเทพมหานครถูกนำมาแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่า ผู้โดยสารที่กางร่มบนชานชาลาเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าช็อต เนื่องจากเพดานของสถานีมี "ไฟฟ้าแฝงอยู่ 10,000 วัตต์" อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ดำเนินการรถไฟฟ้าบีทีเอสและผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้าได้ปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าว โดยชี้แจงว่า รถไฟฟ้าบีทีเอสนั้นใช้กระแสไฟฟ้าที่จ่ายผ่านรางที่สามบนรางรถไฟเท่านั้น

"เวลายืนอยู่บนสถานีรถไฟฟ้า หากเจอฝนตก ห้ามกางร่มเด็ดขาด" โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2566 เขียนคำบรรยายเป็นภาษาไทย

"เนื่องจากบนเพดานของสถานีมีไฟฟ้าแฝงอยู่เป็น 10,000 วัตต์ ผู้ที่กางร่มอาจจะถูกไฟฟ้าดูดขึ้นไปบนเพดานหรือไม่ก็อาจถูกช็อตจนเสียชีวิต" คำบรรยายเดียวกันระบุต่อ

รถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นระบบรถไฟฟ้ายกระดับแห่งแรกของประเทศไทย โดยให้บริการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (ลิงค์บันทึก)

โพสต์เท็จดังกล่าวยังแชร์ภาพโปสเตอร์ที่แสดงข้อแนะนำให้กับผู้โดยสารรถไฟฟ้า โดยหัวข้อระบุว่า "บีทีเอสแนะนำเดินทางช่วงหน้าฝน"

ข้อแนะนำเหล่านั้นได้แก่ เก็บร่มหรือเสื้อกันฝนที่เปียกให้เรียบร้อยก่อนเข้าระบบรถไฟฟ้า ระมัดระวังการลื่นล้มบนชานชาลา และงดกางร่มบนชานชาลา

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

คำกล่าวอ้างดังกล่าวแพร่กระจายในช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน โดยได้รับผลกระทบจากมรสุมและน้ำท่วมในช่วงเดือนตุลาคม 2566 นอกจากนี้ พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็ได้รับคำเตือนจากเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง

ภัยน้ำท่วมในประเทศไทยมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยนักวิทยาศาสตร์กล่าวเตือนว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้พายุฝนฟ้าคะนองทวีความรุนแรงขึ้นมากเมื่อเทียบกับสถิติในอดีต

คำกล่าวอ้างเกี่ยวกับการกางร่มในสถานีรถไฟฟ้าถูกแชร์ในเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่ และ นี่ รวมถึงในติ๊กตอกที่นี่

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ดำเนินการรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าวว่าเป็น "ข่าวปลอม" และผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้ายืนยันกับ AFP ว่าการใช้ร่มบนชานชาลาของสถานีรถไฟนั้นไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน

ข้อแนะนำช่วงลมแรง

การค้นหาด้วยคำสำคัญในเพจเฟซบุ๊กของรถไฟฟ้าบีทีเอสพบว่า ภาพที่ถูกแชร์ในโพสต์เท็จนั้น ถูกแชร์เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 (ลิงค์บันทึก)

โพสต์ดังกล่าวแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการกางร่มบนชานชาลารถไฟ แต่ไม่ได้ระบุว่าผู้กางร่มจะเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าช็อต

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2566 ผู้ดำเนินการรถไฟฟ้าบีทีเอสได้โพสต์คำชี้แจงทางเพจเฟซบุ๊ก เพื่อปฏิเสธคำกล่าวอ้างที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ (ลิงค์บันทึก)

คำชี้แจงนั้นระบุเป็นภาษไทยว่า "บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสไม่มีกระแสไฟบนเพดานหลายหมื่นวัตต์ ตามข้อมูลดังกล่าว กระแสไฟจะมีเพียง 750 โวลต์ ที่จ่ายให้รถไฟฟ้าอยู่ที่บริเวณรางรถไฟฟ้าเท่านั้น"

เว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางรางระบุว่า รถไฟฟ้าบีทีเอสนั้นใช้ระบบการจ่ายไฟฟ้าด้วยรางที่สาม โดยมีแรงดันไฟฟ้ากระแสตรง 750 โวลต์ (ลิงค์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอระบบจ่ายไฟฟ้ารางที่สาม (Third rail) จากเว็บไซต์ของเว็บไซต์กรมกราขนส่งทางราง

ผู้ดำเนินการระบบขนส่งมวลชนดังกล่าวยังอธิบายต่อว่า ข้อแนะนำที่ให้ผู้โดยสารงดกางร่มบนชานชาลานั้น เนื่องจาก "หากมีลมแรง อาจทำให้ร่มปลิว หลุดร่วงลงบริเวณราง และจะทำให้ขบวนรถไฟฟ้าอาจต้องหยุดให้บริการชั่วคราวเพื่อเก็บสิ่งของที่ขวางรางอยู่"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของคำชี้แจงโดยบริษัทบีทีเอสที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก

ต่อมา ในวันที่ 9 ตุลาคม 2566 สำนักงานกรมประชาสัมพันธ์และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างเท็จดังกล่าว (ลิงค์บันทึกที่นี่ และ นี่)

ดร.เทพพนม โสภาเพิ่ม อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กล่าวกับ AFP ว่า คำกล่าวอ้างที่ว่าผู้โดยสารจะถูกไฟฟ้าช็อตจากเพดานของสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสนั้นเป็นไปไม่ได้ (ลิงค์บันทึก)

"ระบบการจ่ายไฟเข้าสู่ขบวนรถไฟฟ้าจะผ่านรางวิ่งเท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่การกางร่มบนชานชาลาจะทำให้ถูกไฟช็อต" เทพพนมกล่าวเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม

"กางกางร่มบนชานชาลารถไฟฟ้าบีทีเอสนั้นปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อผู้โดยสาร" เทพพนมกล่าว

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา