วิดีโอเก่าถูกนำมากล่าวอ้างอย่างขาดบริบทว่าเป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส

ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยเผยแพร่วิดีโอพร้อมคำกล่าวอ้างว่า เป็นภาพชาวเลบานอนปีนรั้วกั้นชายแดนอิสราเอล ท่ามกลางสงครามที่ปะทุขึ้นหลังกลุ่มติดอาวุธฮามาสก่อการโจมตีครั้งประวัติศาสตร์ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2566 จนนำไปสู่การประท้วงทั่วโลก อย่างไรก็ตาม วิดีโอดังกล่าวแสดงเหตุการณ์ประท้วงในปี 2564

คำบรรยายโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2566 ระบุเป็นภาษาไทยว่า "ชาวเลบานอนปีนกำแพงกั้นอิสราเอลด้วยมือเปล่า"

วิดีโอเดียวกันนี้ยังถูกแชร์ในช่องทางอื่นๆ เช่น X (เดิมชื่อทวิตเตอร์) และติ๊กตอก นอกจากนี้ ยังพบโพสต์เท็จคล้ายๆ กันในภาษาอังกฤษ อาหรับ สเปน จีน โปรตุเกส และ อิตาเลียน

Image
ภาพบันทึกหน้าจอโพสต์เท็จ บันทึกวันที่ 24 ตุลาคม 2566

กลุ่มติดอาวุธฮามาสได้เปิดฉากโจมตีอิสราเอลอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวเข้าสู่ภาวะสงคราม กลุ่มติดอาวุธดังกล่าวได้สังหารผู้คนมากกว่า 1,400 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และจับตัวประกันไว้อีกราว 199 คน อิสราเอลได้ปฏิบัติการตอบโต้โดยโจมตีทางอากาศในพื้นที่ฉนวนกาซา คร่าชีวิตประชาชนราว 3,000 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นชาวปาเลสไตน์

คลิปวิดีโอของชาวเลบานอนถูกแชร์อย่างแพร่หลายในเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับเหตุการณ์ที่ชาวเลบานอนนับหลายพันคนรวมตัวกันบนท้องถนนในเมืองหลวงของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนชาวปาเลสไตน์

อย่างไรก็ตาม คลิปวิดีโอดังกล่าวไม่ได้แสดงเหตุการณ์ปัจจุบัน และยังเคยถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยวิดีโอนี้แสดงการประท้วงในเดือนพฤษภาคม 2564

นักข่าว AFP ประจำกรุงเบรุตจำวิดีโอดังกล่าวได้ เมื่อนำภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอไปตรวจสอบผ่านการค้นหาภาพแบบย้อนหลัง จึงพบภาพถ่ายและวิดีโอของการประท้วงที่ตรงกับวิดีโอ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอลในเดือนตุลาคม 2566

ภาพถ่ายโดยอาซิส เทเฮอร์ ช่างภาพข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์ (ลิงค์บันทึก) เผยให้เห็นองค์ประกอบบางส่วนที่ปรากฏในวิดีโอเช่นกัน เช่น รั้วคอนกรีตกั้นพรมแดน และอาคารที่ตั้งอยู่บนเนินเขา

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของภาพถ่ายโดยช่างภาพรอยเตอร์ โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อระบุเบาะแสสำคัญ

คำบรรยายภาพของรอยเตอร์ระบุว่า "กลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันประท้วงเพื่อแสดงออกถึงจุดยืนสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ ในหมูบ้านอะดาอิสเซห์ (Adaisseh) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชายแดนเลบานอน-อิสราเอล ทางตอนใต้ของเลบานอน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564"

การประท้วงในปี 2564 เกิดขึ้นหลังอิสราเอลสังหารโมฮัมหมัด คัสเซม ทาฮาน สมาชิกของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ที่อิหร่านสนับสนุนอยู่ ทาฮานประท้วงต่อต้านการกระทำของอิสราเอลที่โจมตีพื้นที่ในฉนวนกาซาอยู่บ่อยครั้ง ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ผู้ชุมนุมยังได้รวมตัวกันประท้วงในพื้นที่ชายแดนอื่นๆ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่วิดีโอดังกล่าวถูกบันทึกไว้

AFP ได้ค้นหาภาพถ่ายของหมู่บ้านอะดาอิสเซห์ในคลังภาพของสำนักข่าว AFP และสามารถระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของสถานที่ดังกล่าวไว้ได้ จาลา มาเรย์ ช่างภาพข่าวของ AFP ได้ถ่ายภาพอาคารเดียวกันนี้จากฝั่งอิสราเอลในปี 2564

Image
ภาพยานพาหนะของกองกำลังชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในเลบานอน (UNIFIL) กำลังลาดตระเวนบริเวณชายแดนของชานเมืองทางตอนใต้ของหมู่บ้านอะดาอิสเซห์ ประเทศเลบานอน ( AFP / JALAA MAREY)

เมื่อสังเกตรายละเอียดจากภาพถ่ายดังกล่าวแล้ว AFP ได้วิเคราะห์ภาพถ่ายของพื้นที่ชายแดนในหมู่บ้านอะดาอิสเซห์จากดาวเทียมของกูเกิล เพื่อระบุตำแหน่งที่แน่นอนของการประท้วงจากแนวรั้วกั้นชายแดนในครั้งนั้น

Image
เปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายจาก AFP และภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อระบุเบาะแสสำคัญ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566

ภาพทั้งสองภาพแสดงให้เห็นอาคารที่มีหลังคาทำจากอิฐสีส้ม และตั้งอยู่บนถนนเส้นคดเคี้ยว ส่วนภาพถ่ายด้านล่างนั้นมาจากแผนที่กูเกิลซึ่งแสดงให้เห็นลักษณะที่คล้ายกัน โดยสัญลักษณ์ "X" สีแดงระบุตำแหน่งที่วิดีโอดังกล่าวถูกบันทึก

Image
ภาพบันทึกหน้าจอจากแผนที่กูเกิล บันทึกเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566

ในขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตในพื้นที่ตะวันออกกลางพุ่งสูงขึ้นเป็นหลายพันราย คำกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนยังคงแพร่กระจายอย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้แสดงความกังวลว่าอาจนำไปสู่อันตรายในโลกแห่งความเป็นจริง

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาสที่นี่ นี่ นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา