นี่เป็นวิดีโอจากเทศกาลของชาวคาทอลิก ไม่ใช่เหตุการณ์จากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาส
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 31 ตุลาคม 2023 เวลา 05:35
- อัพเดตแล้ว วันที่ 31 ตุลาคม 2023 เวลา 05:57
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Panisa AEMOCHA, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำบรรยายที่ปรากฏอยู่ในคลิปวิดีโอความยาว 25 วินาที ที่ถูกเผยแพร่ในติ๊กตอกเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 เขียนว่า: "ประชาชนหลายล้านคนไร้ที่อยู่ทำกิน ขอให้ทุกคนปลอดภัย อิสราเอล ปาเลสไตน์"
วิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นผู้คนนับหลายพันคนในพื้นที่โล่งแจ้ง ผู้คนจำนวนหนึ่งเดินไปตามท้องถนน และบางส่วนยืนอยู่ที่เดิม นอกจากนี้ ยังมีภาพของเต็นท์และกระโจมขนาดใหญ่จำนวนมากให้เห็น วิดีโอดังกล่าวมีผู้ชมแล้วมากกว่าหนึ่งล้านครั้ง
โพสต์ดังกล่าวปรากฏขึ้นหลังกลุ่มติดอาวุธฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลอย่างกระทันหันเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 จนนำไปสู่ภาวะสงครามที่คร่าชีวิตพลเมืองของทั้งสองฝั่งหลายพันราย
กลุ่มฮามาสได้ส่งนักรบติดอาวุธข้ามชายแดนในพื้นที่ฉนวนกาซา ซึ่งนับว่าเป็นการโจมตีครั้งที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศอิสราเอล เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,400 ราย และมีผู้ถูกจับเป็นตัวประกันมากกว่า 230 คน รัฐบาลอิสราเอลระบุ
อิสราเอลได้ตอบโต้ด้วยการโจมตีฉนวนกาซาอย่างรุนแรง กระทรวงสาธารณสุขของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาเผยว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตในพื้นที่ฉนวนกาซานั้นมีมากกว่า 8,000 ราย
วิดีโอเดียวกันนี้ยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จในติ๊กตอกที่นี่ นี่ และ นี่ ในขณะที่วิดีโอคล้ายกันแต่ถูกถ่ายในมุมที่ต่างออกไปก็ถูกแชร์ที่นี่ และ นี่
คอมเมนต์ใต้โพสต์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ใช้งานส่วนหนึ่งเชื่อว่าวิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นผู้ไร้บ้านที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งครั้งนี้
"เอาล่ะ มันคือสงคราม คนที่ซวยคือประชาชน" ผู้ใช้งานคนหนึ่งระบุ
ผู้ใช้งานอีกรายเขียนว่า "ผู้นำเลือกสงครามแทนที่จะเจรจา สุดท้ายภาระตกอยู่ที่ประชาชน เศร้า"
วันเยาวชนโลก
จากการค้นหาภาพย้อนหลังในกูเกิล และเครื่องมือ InVID WeVerify ที่ทีม AFP ร่วมพัฒนาขึ้นมา พบภาพที่มีลักษณะใกล้เคียงกับวิดีโอในโพสต์เท็จ ที่ถูกเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ iStock (ลิงค์บันทึก)
คำบรรยายของภาพถ่ายแปลเป็นภาษาไทยว่า "เมืองลิสบอน โปรตุเกส วันที่ 5 สิงหาคม 2566 ผู้แสวงบุญจากทั่วโลกเข้าร่วมงานวันเยาวชนโลกในวันที่ 5 โดยมีพระสันตะปาปาฟรานซิสเป็นประธาน ณ สวน Tejo เมืองลิสบอน"
ภาพดังกล่าวถูกบันทึกไว้ได้โดยช่างภาพข่าวอิสระสัญชาติโปรตุเกสชื่อ อิกอร์ เดอ อะบอยม์ ซึ่งยืนยันสถานที่และวันเวลาที่ถ่ายภาพดังกล่าวกับ AFP (ลิงค์บันทึก)
"ผมยืนยันได้ว่า คำกล่าวอ้างว่าวิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นภาพคนไร้บ้านที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาสนั้นเป็นคำกล่าวอ้างเท็จ" อะบอยม์กล่าว ในวันที่ 24 ตุลาคม
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จในติ๊กตอก ณ วินาทีที่ 20 ของวิดีโอ (ซ้าย) และภาพจาก iStock (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อระบุองค์ประกอบที่เหมือนกัน:
วันเยาวชนโลกเป็นงานประจำปีที่เยาวชนมารวมตัวกันเพื่อสวดภาวนาและเฉลิมฉลองศรัทธาของนิกายโรมันคาทอลิก เทศกาลรวมตัวกันเช่นนี้จัดขึ้นทุกๆ สองถึงสามปี ในสถานที่ที่แตกต่างกันไปทั่วโลก (ลิงค์บันทึก)
สื่อคาทอลิกรายงานว่า มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานที่ลิสบอมสูงถึง 350,000 คน โดยงานในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 ถึง 6 สิงหาคม 2566 และมีผู้เข้าร่วมงานในวันสุดท้ายที่มีพระสันตะปาปาฟรานซิสร่วมเป็นประธานมากถึง 1.5 ล้านคน (ลิงค์บันทึกที่นี่และนี่)
เวทีขนาดใหญ่ที่มีสัญลักษณ์ไม้กางเขนสามารถเห็นได้ทางด้านขวาของภาพถ่ายต้นฉบับที่ถูกเผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ iStock โดยทีม AFP สามารถระบุตำแหน่งของเวทีดังกล่าวได้ว่าตั้งอยู่ในสวน Tejo-Trancão (ลิงค์บันทึก)
การค้นหาภาพย้อนหลังเพิ่มเติมจากคลิปในติ๊กตอกยังเผยให้เห็นวิดีโอที่บันทึกเทศกาลดังกล่าวอย่างเป็นทางการ โดยสามารถสังเกตเห็นเวทีดังกล่าวปรากฎอยู่ในวิดีโอหลายครั้ง (ลิงค์บันทึก)
สะพานวาสโก ดา กามา
ภาพจากวิดีโอที่ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จในวินาทีที่ 15 ยังแสดงให้เห็นสะพานสูงขนาดใหญ่ AFP สามารถระบุตำแหน่งของสะพานที่ปรากฏในวิดีโอได้ว่า เป็นสะพานวาสโก ดา กามา (Vasco da Gama Bridge) ซึ่งทอดผ่านปากแม่น้ำทากัส (ลิงค์บันทึก)
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ ณ วินาทีที่ 15 ของวิดีโอ (ซ้าย) และภาพถ่ายหน้าจอของแผนที่กูเกิลที่แสดงสะพานวาสโก ดา กามา (ขวา) (ลิงค์บันทึก)
AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ซึ่งสามารถอ่านรายงานภาษาไทยได้ที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา