วิดีโอนี้คือการโจมตีด้วยอาวุธเพลิงของกองทัพรัสเซียในประเทศยูเครน ไม่ใช่กองทัพอิสราเอลโจมตีฉนวนกาซา

ปฏิบัติการโจมตีในพื้นที่ฉนวนกาซาของอิสราเอลเป็นการตอบโต้หลังกลุ่มติดอาวุธฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลอย่างกระทันหันเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนจากทั้งสองฝั่ง ในขณะเดียวกัน คลิปวิดีโอหนึ่งถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นภาพขณะอิสราเอลใช้ระเบิดฟอสฟอรัสขาวในดินแดนปาเลสไตน์ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเท็จ แม้องค์กรสิทธิมนุษยชนจะกล่าวหาอิสราเอลว่าใช้อาวุธเคมีในอดีตและปัจจุบัน แต่ AFP พบว่าวิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ก่อนเดือนตุลาคม และพบว่าคลิปวิดีโอต้นฉบับแสดงการโจมตีของกองทัพรัสเซียที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในประเทศยูเครน

"ระเบิดฟอสฟอรัสอาวุธต้องห้ามที่ตกลงใส่ชาวฉนวนกาซา ตกใส่ผู้ที่ไร่ที่พักพึ่ง" ข้อความที่ฝังอยู่ในคลิปวิดีโอหนึ่งระบุเป็นภาษาไทย โดยวิดีโอดังกล่าวถูกแชร์ในติ๊กตอกเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566

วิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นอาวุธเพลิงที่ตกลงมาจากท้องฟ้า โดยได้ยินเสียงชายคนหนึ่งพูดภาษายูเครน

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ติ๊กตอกที่ทำให้เข้าใจผิด

วิดีโอและคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันนี้ยังปรากฏในช่องทางอื่นๆ ในภาษาไทย เช่น ที่นี่ นี่ และ นี่ นอกจากนี้ยังพบโพสต์คล้ายๆ กันในภาษาอังกฤษ โปรตุเกส และ สเปน

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 นักรบของกองกำลังติดอาวุธฮามาสจำนวนหลายร้อยคนเปิดฉากโจมตีอิสราเอลอย่างกระทันหัน ซึ่งถือว่าเป็นการโจมตีที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปีตั้งแต่สงครามอาหรับ-อิสราเอลในปี 2516

เหตุการณ์ดังกล่าวคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วนับหลายพันราย และมีคนถูกจับเป็นตัวประกันได้อีกราว 222 คน (ลิงค์บันทึก)

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ในฉนวนกาซากล่าวว่า การโจมตีตอบโต้ของอิสราเอลได้คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 1,799 ราย และทำให้อีกหลายพันคนได้รับบาดเจ็บ (ลิงค์บันทึก)

แม้ว่าอิสราเอลจะถูกกล่าวหาว่าใช้อาวุธฟอสฟอรัสขาวในการโจมตีฉนวนกาซาและเลบานอนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา (ลิงค์บันทึก) แต่คำกล่าวอ้างว่าวิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นกองกำลังอิสราเอลทิ้งระเบิดฟอสฟอรัสลงในฉนวนกาซานั้นไม่เป็นความจริง

สงครามในยูเครน

จากการค้นหาภาพย้อนหลังด้วยเครื่องมือตรวจสอบ InVID-WeVerify พบว่าวิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566

เดอะ เทเลกราฟ หนังสือพิมพ์ของประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่วิดีโอฉบับที่ยาวกว่าวิดีโอในโพสต์เท็จลงในยูทูปเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นระยะเวลาหกเดือนก่อนหน้ากลุ่มฮามาสจะโจมตีอิสราเอล (ลิงค์บันทึก)

คำบรรยายในวิดีโอระบุว่าเป็นภาพกองกำลังรัสเซียกำลังโจมตีเมืองวูห์เลดาร์ ประเทศยูเครนด้วย ระเบิดฝนเทอร์ไมต์ (thermite munitions) ซึ่งเป็นกระสุนเพลิงชนิดหนึ่ง

ระเบิดฝนเทอร์ไมต์มีส่วนผสมของผงอลูมิเนียมและเหล็กออกไซด์ที่บรรจุในแมกนีเซียม ซึ่งเป็นโลหะที่ติดไฟได้ (ลิงค์บันทึก)

นอกจากนี้ สำนักข่าวอังกฤษอีกแห่งอย่าง เดอะ มิร์เรอร์ ได้รายงานเกี่ยวกับการโจมตีของรัสเซียในวันที่ 12 มีนาคม 2566 (ลิงค์บันทึก)

นักข่าวชาวดัชต์คนหนึ่งยังได้แชร์วิดีโอเดียวกันนี้ใน X (เดิมชื่อทวิตเตอร์) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม โดยระบุว่า วิดีโอดังกล่าวเป็นหลักฐานที่แสดงว่ากองทัพรัสเซียโจมตีเมืองวูห์เลดาร์ด้วย "อาวุธเพลิง" (ลิงค์บันทึก)

เมืองวูห์เลดาร์ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้จากเมืองโดเนตสก์ราว 55.7 กิโลเมตร (34 ไมล์) ซึ่งเป็นสมรภูมิสำคัญในการต่อสู้ระหว่างกองทัพรัสเซียและยูเครน (ลิงค์บันทึก)

องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ออกมากล่าวหากองทัพรัสเซียว่ามีการใช้ระเบิดลูกปรายในเมืองวูห์เลดาร์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 (ลิงค์บันทึก)

การโจมตีด้วยระเบิดฟอสฟอรัสในฉนวนกาซาและเลบานอน

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า องค์กรได้ตรวจสอบวิดีโอที่ถ่ายในฉนวนกาซาและเลบานอน ซึ่งเผยให้เห็นว่าอิสราเอลใช้ระเบิดฟอสฟอรัสขาวในปฏิบัติการทางทหาร และชี้ว่าอาจส่งผลให้ "พลเมืองตกอยู่ในอันตรายโดยไม่จำเป็น" (ลิงค์บันทึก)

Image
การทิ้งระเบิดฟอสฟอรัสของอิสราเอลเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 เหนือท่าเรือเมืองกาซา ( AFP / MOHAMMED ABED)

"การใช้ฟอสฟอรัสขาวในพื้นที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงสูงที่จะเกิดแผลไฟไหม้ที่เจ็บปวดรุนแรงและความทุกข์ทรมานตลอดชีวิต" ลามา ฟากิห์ ผู้อำนวยการขององค์กรฮิวแมนไรท์วอชท์ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือกล่าว

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่องค์กรสิทธิมนุษยชนชี้ว่าอิสราเอลใช้อาวุธต้องห้ามในการโจมตีฉนวนกาซา (ลิงค์บันทึก)

ในปี 2552 องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า “การใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ฟอสฟอรัสขาวอย่างแพร่หลาย” โดยกองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอลในฉนวนกาซาระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2551 จนถึงวันที่ 18 มกราคม 2552 นั้น เป็นการกระทำโดยเจตนาเพื่อสังหารและทำร้ายพลเรือน (ลิงค์บันทึก)

การใช้อาวุธเพลิงนั้นถูกบัญญัติไว้ในพิธีสารฉบับที่ 3 ของอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิดขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งห้ามมิให้มีการใช้อาวุธดังกล่าวในพื้นที่ที่มีพลเรือนอาศัยอยู่ (ลิงค์บันทึก)

Image
สิ่งที่อนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติระบุไว้เกี่ยวกับการใช้อาวุธก่อเพลิง

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ในเดือนตุลาคม 2566 ส่งผลให้เกิดข้อมูลเท็จและบิดเบือนในสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก โดยสามารถอ่านรายงานของ AFP ได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา