ภาพเด็กชายในชุดประกวดงานวันฮาโลวีนในประเทศไทยถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างว่า เป็นภาพศพปลอมที่กลุ่มฮามาสจัดฉากขึ้น

ตั้งแต่กลุ่มติดอาวุธฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลอย่างกระทันหันเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2566 ภาพของศพนับหลายพันในอิสราเอลและฉนวนกาซา ซึ่งรวมถึงศพผู้หญิงและเด็ก ถูกเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ อย่างไรก็ตาม โพสต์ที่แชร์ภาพถ่ายภาพหนึ่งและระบุว่า เป็นศพปลอมที่กลุ่มฮามาสจัดฉากนั้นเป็นคำกล่าวอ้างเท็จ โดยภาพต้นฉบับเป็นภาพเด็กชายในงานวันฮาโลวีนในประเทศไทยเมื่อปี 2565

"เรื่องสร้างภาพฟ้องชาวโลก กลุ่มฮามาสปาเลสไตน์ เขาเก่งมาก ... ความเป็นจริงแทบไม่ค่อยได้เห็นศพพวกกลุ่มฮามาสเลย เพราะโดนจับเป็นเยอะ" ผู้ใช้งานเอ็กซ์ (เดิมชื่อทวิตเตอร์) เขียนคำบรรยายในโพสต์เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566

โพสต์ดังกล่าวได้แชร์ภาพถ่ายหน้าจอ ที่แสดงคนที่ถูกห่มรอบตัวด้วยผ้าสีขาว และกำลังนั่งดูมือถือ

ข้อความในภาพถ่ายหน้าจอระบุว่า "ชาวกาซานคนหนึ่งถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมโดย #Israel กำลังส่งข้อความจากอีกโลกหนึ่ง #Gaza ต้องการนักแสดง"

ภาพและคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันนี้ถูกแชร์ในภาษาไทยที่นี่ นี่ และ นี่ และยังพบคำกล่าวอ้างในทำนองเดียวกันในภาษาต่างประเทศเช่น ภาษาอังกฤษ ฮีบรู ฝรั่งเศส สเปน และ อาหรับ

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ

โพสต์ดังกล่าวเริ่มถูกแชร์ประมาณสามสัปดาห์หลังกลุ่มฮามาสบุกโจมตีข้ามพรมแดนจากฉนวนกาซาเข้าสู่อิสราเอล และสังหารผู้คนกว่า 1,400 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเมือง และจับจัวปนะกันได้อีกราว 240 คน ทางการของอิสราเอลระบุ (ลิงค์บันทึก)

อิสราเอลตอบโต้การโจมตีของกลุ่มฮามาสด้วยการทิ้งระเบิดลงในพื้นที่ฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการโดยกลุ่มฮามาสระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากการระเบิดมากกว่า 9,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้หญิง การต่อสู้ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยจำนวนมากถูกทำลาย และผู้คนนับล้านต้องอพยพออกจากบ้านของตน นอกจากนี้ อิสราเอลยังประกาศตัดอาหาร น้ำ และไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย (ลิงค์บันทึก)

องค์การแพทย์ไร้พรมแดนแถลงเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนว่า มีประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 20,000 คน และพวกเขาติดอยู่ในฉนวนกาซา

แม้สื่อสังคมออนไลน์จะถูกใช้เพื่อถ่ายทอดเหตุการณ์สงคราม แต่ช่องทางนี้ก็เต็มไปด้วยข้อมูลเท็จจำนวนมากเช่นเดียวกัน ซึ่งรวมถึงคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับการจัดฉากศพด้วย

อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายดังกล่าวไม่ได้เป็นภาพจากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสแต่อย่างใด ในความเป็นจริงแล้ว ภาพดังกล่าวเป็นภาพเด็กชายที่แต่งชุดประกวดงานวันฮาโลวีนในจังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2565

ประกวดชุดวันฮาโลวีนในไทย

จากการเครื่องมือค้นหาภาพแบบย้อนหลัง AFP พบว่า รายการ "เรื่องเล่าเช้านี้" ของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยแห่งหนึ่งได้โพสต์ภาพดังกล่าวในบัญชีเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม 2565 (ลิงค์บันทึก)

โพสต์ดังกล่าวเขียนคำบรรยายว่า พี่น้องคู่หนึ่งแต่งตัวเป็นผีระหว่างร่วมประกวดชุดวันฮาโลวีนที่จัดในห้างสรรพสินค้าในจังหวัดนครราชสีมา

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน สำนักข่าวไทยอื่นเช่น ที่นี่ และ นี่ ก็ได้รายงานข่าวและแชร์ภาพเดียวกัน (ลิงค์บันทึกที่นี่ และ นี่)

นอกจากนี้ ชื่อของแม่ของเด็กชายในภาพ "Surattana Sawadkit" ยังปรากฎอยู่ด้านบนซ้ายของภาพ โดยสุรัตนา สวัสดิ์กิจได้โพสต์ภาพดังกล่าวในบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวของเธอเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2565 (ลิงค์บันทึก)

สุรัตนายังได้โพสต์วิดีโอของงานประกวดดังกล่าวในเฟซบุ๊กของเธอ (ลิงค์บันทึกนี่ และ นี่)

สุรัตนายืนยันกับ AFP ว่าภาพที่แชร์ในโพสต์เท็จนั้นคือภาพลูกชายของเธอที่แต่งตัวเพื่อประกวดชุดฮาโลวีนในเดือนตุลาคม 2565

คำกล่าวอ้างเกี่ยวกับการจัดฉากศพหรือแสร้งว่าได้รับบาดเจ็บนั้นมักพบอยู่เป็นประจำในสื่อสังคมออนไลน์ โดยก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับสงครามในยูเครนและโรคระบาดโควิด-19

ผู้อ่านสามารถติดตามรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP ที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาสได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา