
วิดีโอนี้บันทึกการประท้วงในอียิปต์ในปี 2013 ไม่ใช่ภาพกลุ่มฮามาสจัดฉากศพปลอม
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10:51
- อัพเดตแล้ว วันที่ 10 พฤศจิกายน 2023 เวลา 11:04
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Devesh MISHRA, AFP อินเดีย, AFP Thailand
- แปลและดัดแปลง โดย Chayanit ITTHIPONGMAETEE
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"อัลเลาะห์อวยพร ศพฮามาสตายแล้วแต่ขยับได้," ผู้ใช้งานเอ็กซ์ ซึ่งเดิมชื่อทวิตเตอร์ เขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566
โพสต์เดียวกันนี้แชร์วิดีโอที่มีความยาว 49 วินาที ซึ่งแสดงให้เห็นกลุ่มคนนอนเรียงราย และแต่ละคนถูกคลุมด้วยผ้าสีขาวที่มีตัวอักษรภาษาอาหรับเขียนอยู่
ในขณะที่คนส่วนใหญ่นอนนิ่ง บางคนขยับตัวเมื่อกล้องถ่ายที่พวกเขา

วิดีโอดังกล่าวยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างที่คล้ายกันในภาษาไทยที่นี่ นี่ และ นี่ และในภาษาฮินดีที่นี่ นี่ และ นี่
สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 หลังกลุ่มติดอาวุธดังกล่าวบุกโจมตีอย่างกระทันหันทางตอนใต้ของอิสราเอล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,400 ราย และมีคนถูกจับเป็นตัวประกันได้กว่า 230 จากข้อมูลของอิสราเอล
อิสราเอลตอบโต้ด้วยการทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่อง และส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้าโจมตีในฉนวนกาซา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการโดยกลุ่มฮามาสกล่าวว่ามีประชาชนเสียชีวิตมากกว่า 10,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กราว 4,000 คน
อย่างไรก็ตาม แม้วิดีโอนี้จะบันทึกภาพกลุ่มคนที่แสดงเป็นศพจริง แต่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาส
ประท้วงในอียิปต์
จากการใช้เครื่องมือค้นหาภาพแบบย้อนหลังและค้นหาด้วยคำสำคัญในกูเกิล AFP พบวิดีโอในฉบับที่ยาวกว่าเผยแพร่อยู่บนบัญชียูทูปทางการของหนังสือพิมพ์เอล-บาดิลในประเทศอียิปต์ โดยเป็นวิดีโอตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2556 (ลิงค์บันทึก)
วิดีโอดังกล่าวระบุชื่อเรื่องเป็นภาษาอาหรับว่า "การจำลองศพนอนเกลื่อนพื้นภายในมหาวิทยาลัยอัลอัซฮาร์"
คำอธิบายของวิดีโอยังระบุต่อว่า การจำลองศพเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงที่จัดขึ้นโดยนักศึกษาหลายสิบคนจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ณ มหาวิทยาลัยอัลอัซฮาร์ โดยพวกเขาได้ตะโกนคำขวัญเพื่อต่อต้านกองทัพทหารและตำรวจ
มหาวิทยาลัยหลายแห่งในอียิปต์กลายเป็น "ศูนย์กลางของการประท้วง" หลังประธานาธิบดีของอียิปต์ในขณะนั้นชื่อ โมฮัมเหม็ด มอร์ซี ซึ่งเป็นสมาชิกของขบวนการภราดรภาพมุสลิมด้วย ถูกกองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจในเดือนกรกฎาคม 2556
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอในบัญชียูทูปของหนังสือพิมพ์เอลบาดิล (ขวา):

วิดีโอดังกล่าวระบุว่าผู้ถ่ายวิดีโอคือนักข่าวมัลติมีเดียชื่อ มอสตาฟา ดาร์วิช
“ผมถ่ายวิดีโอนี้ให้กับหนังสือพิมพ์เอลบาดิลในปี 2556” มอสตาฟากล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566
วิดีโอที่บันทึกการประท้วงเดียวกัน แต่ถ่ายในมุมที่ต่างออกไป ยังถูกแชร์ในบัญชียูทูปของสื่ออียิปต์อีกแห่งชื่อ อักบาร์ เอลยอม ทีวี (ลิงค์บันทึก)
คำกล่าวอ้างเกี่ยวกับการจัดฉากศพหรือแสร้งว่าได้รับบาดเจ็บนั้นมักพบอยู่เป็นประจำในสื่อสังคมออนไลน์ โดยก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับสงครามในยูเครนและโรคระบาดโควิด-19
ผู้อ่านสามารถติดตามรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP ที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาสได้ที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา