วิดีโอการจับกุมอดีตผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนของอาเซอร์ไบจานถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่า 'นายพลของอิสราเอลถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไป'

  • เผยแพร่ วัน 6 พฤศจิกายน 2023 เวลา 08:31
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
  • แปลและดัดแปลง โดย Panisa AEMOCHA
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 กลุ่มติดอาวุธฮามาสบุกโจมตีจากฉนวนกาซาเข้าสู่ดินแดนของอิสราเอล ก่อนจะสังหารประชาชนมากกว่า 1,400 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเมือง และจับตัวประกันไว้ได้กว่า 203 คน ข้อมูลของทางอิสราเอลระบุ ต่อมา คลิปวิดีโอหนึ่งถูกแชร์ในโลกออนไลน์พร้อมคำกล่าวอ้างว่า กลุ่มฮามาส "จับกุมนายพลของอิสราเอล" อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเท็จ วิดีโอดังกล่าวบันทึกภาพขณะเจ้าหน้าที่สภาความมั่งคงแห่งอาเซอร์ไบจานควบคุมตัวผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนจากพื้นที่นากอร์โน-คาราบัค โดยกองทัพอิสราเอลได้ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมว่า ไม่มีนายพลคนใดของกองทัพอิสราเอลถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกัน

ส่วนหนึ่งของคำบรรยายในโพสต์เฟซบุ๊กเท็จที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ระบุว่า: "ดูที่สัญญาณมือสิ... คุณจะจับนายพลทั้ง 3 คนได้อย่างไร? นายพลและพันเอกชื่อดังของอิสราเอลหลายคนถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไป"

โพสต์ดังกล่าวบรรยายต่อว่า: "การพูดทางการทหารนั้นไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิงนายพลเหล่านี้ พวกเขามักจะอยู่ในบังเกอร์ในการวางแผน มีบางสิ่งใหญ่เกิดขึ้นเบื้องหลังที่มองเห็นได้"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 กลุ่มฮามาสได้บุกโจมตีพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอล โดยทางการอิสราเอลระบุว่า การโจมตีของกลุ่มฮามาสคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 1,400 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเมือง จากนั้น กองทัพอิสราเอลได้ตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศและใช้ยุทโธปกรณ์อื่นๆ ในพื้นที่ฉนวนกาซา

กระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการโดยกลุ่มฮามาสระบุว่า การโจมตีตอบโต้ของอิสราเอลอย่างต่อเนื่องในฉนวนกาซาได้คร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์ไปกว่า 9,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก และถือว่าเป็นการโจมตีที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ

อันโตนิโอ กุเตอเรส เลขาธิการขององค์การสหประชาชาติ ได้ออกมาเรียกร้องให้กลุ่มฮามาส "ปล่อยตัวประกัน" ที่ถูกจับกุมจากการบุกโจมตี "โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข" ซึ่งทางการอิสราเอลกล่าวว่ามีตัวประกันทั้งหมด 203 ราย

กุเตอเรสยังกระตุ้นให้อิสราเอลเปิดทาง "ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงพื้นที่โดยทันที" หลังจากการโจมตีตอบโต้กลับอย่างหนักหน่วงนำไปสู่วิกฤตทางมนุษยธรรมที่เลวร้าย

วิดีโอและคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันนี้ยังถูกแชร์ในภาษาอื่น อาทิ ภาษาพม่า เบงกาลี และ สเปน

อย่างไรก็ดี กลุ่มคนในคลิปดังกล่าวไม่ใช่นายพลของอิสราเอล แต่เป็นบรรดาผู้นำของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนจากพื้นที่นากอร์โน-คาราบัค ซึ่งเป็นดินแดนที่มีข้อพิพาท โดยรัฐบาลอาเซอร์ไบจานสามารถเข้าควบคุมพื้นที่ดังกล่าวไว้ได้ในเดือนกันยายน 2566

ผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดน

การค้นหาภาพแบบหลังย้อนหลังในกูเกิล พบวิดีโอเดียวกันในฉบับที่มีความยาวมากกว่าวิดีโอในโพสต์เท็จปรากฏอยู่ในบัญชียูทูปอย่างเป็นทางการของสภาความมั่งคงแห่งอาเซอร์ไบจาน (ลิงค์บันทึก)

องค์กรดังกล่าวยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ DTX ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ปรากฏอยู่บนเครื่องแบบของชายที่สวมผ้าปิดหน้าในวิดีโอ

วิดีโอในโพสต์เท็จตรงกันกับส่วนหนึ่งของวิดีโอในบัญชียูทูป ตั้งแต่ช่วงนาทีที่ 2:27 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ วิดีโอในยูทูปยังฝังแถลงการณ์จากสภาความมั่งคงแห่งอาเซอร์ไบจานในวันเดียวกัน ซึ่งกล่าวถึงการจับกุมกลุ่มผู้นำดังกล่าว (ลิงค์บันทึก)

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า กลุ่มชายที่โดนจับกุมมีความผิดฐานรวบรวมกลุ่มติดอาวุธผิดกฏหมายและจัดหายุทโธปกรณ์ให้พวกเขา

ชายสองคนในคลิปดังกล่าวได้รับการยืนยันตัวตนว่าชื่อ Arkadi Arshaviri Ghukasyan และ Bako Sahaki Sahakyan โดยทั้งคู่เป็นอดีตประธานาธิบดีที่สถาปนาตนเองขึ้นเป็นผู้ปกครองดินแดนที่ถูกแบ่งแยก ขณะที่ชายอีกคนที่ชื่อ Davit Rubeni Ishkhanyan นั้นเป็นอดีตโฆษกแห่งสภานิติบัญญัติของพื้นที่นากอร์โน-คาราบัค

การจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นหลังรัฐบาลอาเซอร์ไบจานสามารถเข้าควบคุมพื้นที่นากอร์โน-คาราบัคได้ในเดือนกันยายน 2566 ด้วยยุทธการสายฟ้าแลบ ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าวยุติการปกครองแบบแบ่งแยกดินแดนโดยกลุ่มชาติพันธุ์อาร์เมเนียนที่มีมายาวนานสามทศวรรษได้ภายใน 24 ชั่วโมง (ลิงค์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอยูทูปของสภาพความมั่งคงแห่งอาร์เซอร์ไบจาน (ขวา):

Image
Image
Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอยูทูปของสภาพความมั่งคงแห่งอาร์เซอร์ไบจาน (ขวา)

AFP ได้เผยแพร่ภาพการจับกุมตัวชาย 2 คนในจำนวนทั้งหมด 3 คนที่นี่ และ นี่ โดยวิดีโอเผยให้เห็นว่าพวกเขาใส่เสื้อผ้าชุดเดียวกัน

ธงชาติของอาเซอร์ไบจานยังปรากฏให้เห็นที่เครื่องแบบของเจ้าหน้าที่ DTX ซึ่งสามารถเห็นได้ที่ช่วงวินาทีที่ 25 ตามที่เห็นได้ในภาพถ่ายหน้าจอ โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายสีแดงไว้

Image
ภาพธงชาติของอาเซอร์ไบจานปรากฏในภาพถ่ายหน้าจอในโพสต์เท็จ โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายสีแดงเอาไว้

กองทัพอิสราเอลยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ว่า ไม่มีนายพลคนใดของกองทัพอิสราเอลถูกกลุ่มติดอาวุธฮามาสจับตัวไป

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ในเดือนตุลาคม 2566 ส่งผลให้เกิดข้อมูลเท็จและบิดเบือนในสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก โดยสามารถอ่านรายงานของ AFP ได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา