หุ้นกู้ไร้หลักทรัพย์ค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์กัมพูชา ไม่ได้เป็นหลักฐานว่าประเทศกำลังจะล้มละลาย ผู้เชี่ยวชาญระบุ

  • เผยแพร่ วัน 21 พฤศจิกายน 2023 เวลา 05:20
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: Panisa AEMOCHA, AFP ประเทศไทย
การที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของกัมพูชาเตรียมออกหุ้นกู้ไร้หลักทรัพย์ค้ำประกัน มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่ใช่หลักฐานที่ระบุว่าประเทศกัมพูชามีสถานะล้มละลาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินชี้แจงกับ AFP พร้อมปฎิเสธคำกล่าวอ้างเท็จที่เผยแพร่อยู่บนสื่อสังคมออนไลน์ของไทย ด้านตัวแทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกต่างย้ำว่ากัมพูชายังมีความเสี่ยงล้มละลายอยู่ในระดับต่ำจากการประเมินล่าสุด

ข้อความที่เขียนพาดหัวคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่บนเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2566 ระบุว่า: "เขมรล้มละลายแล้ว! หันหน้าหาไทยขอเงิน 3,700 ล้าน"

คลิปวิดีความยาวราว 17 นาที กล่าวถึงประกาศล่าสุดของธนาคาร ACLEDA ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่สองของประเทศกัมพูชา ที่ระบุว่าธนาคารฯ ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งชาติให้ออกหุ้นกู้ในไทย ที่มูลค่าราว 3,700 ล้านบาท (ราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

หุ้นกู้ดังกล่าวเป็นแบบไร้หลักทรัพย์ใดๆ มาค้ำประกัน ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะได้รับเงินชดเชยภายหลังจากผู้ถือหุ้นกู้แบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกันกรณีในกรณีที่บริษัทผิดนัดชำระหนี้

"กัมพูชาเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตคล้ายกับลาว จากวิกฤตค่าเงินลาวที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาท" คือหนึ่งในข้อความที่ปรากฎอยู่ในคลิปดังกล่าว พร้อมกล่าวถึงไทยและเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น สปป. ลาว โดยเน้นย้ำไปที่ปัญหาหนี้ต่างประเทศขนาดใหญ่ที่ลาวเผชิญหน้าอยู่

"เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประเทศลาวก็ได้มีการออกหุ้นกู้เพื่อขอเงินลงทุนจากไทย ไปพยุงเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำ"

วิดีโอดังกล่าวมีผู้รับชมแล้วมากกว่า 600,000 ครั้ง ตั้งแต่เผยแพร่เป็นครั้งแรก

Image
ภาพถ่ายหน้าจอโพสต์เท็จ บันทึกเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566

คำกล่าวอ้างที่คล้ายๆ กัน เกี่ยวกับเรื่องธนาคาร ACLEDA ออกหุ้นกู้ ได้ถูกแชร์ในโพสต์ออนไลน์ทั้งบนเฟซบุ๊กและยูทูป

ความเสี่ยงล้มละลายต่ำ

ตัวแทนจากทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก ปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าว

"การที่ประเทศหนึ่งมีสถานะล้มละลายเกิดขึ้นเมื่อไม่สามารถจ่ายคือหนี้หรือดอกเบี้ยได้" โจเชน ชมิธแมนน์ ผู้แทนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประจำประเทศกัมพูชา กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน (ลิงค์บันทึก)

"แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับกัมพูชา" เขากล่าว

รายงานของ IMF ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ระบุว่า: "แม้คาดการณ์หนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระยะกลางจะเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย ทว่าความเสี่ยงของระดับการประสบปัญหาหนี้ยังต่ำอยู่" (ลิงค์บันทึก)

ตัวแทนจากธนาคารโลกกล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พร้อมระบุว่า การประเมินเศรษฐกิจกัมพูชาครั้งล่าสุด เมื่อ พฤศจิกายน 2565 พบว่า ประเทศมีความเสี่ยงต่ำในด้านวิกฤตการจ่ายคืนหนี้ (ลิงค์บันทึก)

"นี่ถือเป็นระดับความมั่นคงด้านหนี้สินที่ดีที่สุด (ปลอดภัยที่สุด) ที่ประเทศหนึ่งจะได้รับ"

กิจการของธนาคารเอกชน

Soksensan Meas โฆษกกระทรวงเศรษฐกิจและการเงินของกัมพูชา ตอบกลับคำกล่าวอ้างดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน กับ AFP ว่า "เมื่อพูดถึงธนาคาร ACLEDA มันคือกิจการของเอกชนเท่านั้น" (ลิงค์บันทึก)

สตีเฟน ฮิกกินส์ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการบริษัทด้านการลงทุนและให้คำปรึกษา ซึ่งตั้งอยู่ในกัมพูชาอย่าง Mekong Strategic Capital กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ว่า "การตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงบดุลของธนาคาร ACELEDA ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลกัมพูชา" (ลิงค์บันทึก)

Buth Bunseyha รองประธานบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ผ่านกฎหมายและเลขานุการบริษัท ย้ำกับ AFP เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนว่าการตัดสินใจออกหุ้นกู้ในประเทศไทยตั้งอยู่บนการบริหารกลยุทธ์ของสภาพตลาด (ลิงค์บันทึก)

"นอกจากตลาดประเทศไทย เรายังมองประเทศอื่นๆ ในการออกหุ้นกู้เช่นกัน" Buth กล่าวกับ AFP

อริยา ตริณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ว่า แม้หุ้นกู้ไร้หลักทรัพย์ค้ำประกันจะมีความเสี่ยงมากกว่า แต่ก็มีสัดส่วนถึง "80 เปอร์เซ็นของหุ้นกู้ที่ออกในตลาด" (ลิงค์บันทึก)

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา