ภาพชาวปาเลสไตน์ช่วยเด็กออกจากซากปรักหักพังเป็นภาพที่มีสัญญาณของปัญญาประดิษฐ์ (AI)
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2023 เวลา 08:21
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP สหรัฐอเมริกา, AFP ประเทศไทย
- แปลและดัดแปลง โดย Chayanit ITTHIPONGMAETEE
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
เพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่งแชร์ภาพพร้อมเขียนคำบรรยายส่วนหนึ่งว่า "ปธน. #ตุรกี "Erdogan" กล่าวปราศรัยในการชุมนุมครั้งใหญ่ที่อิสตันบูล โดยกล่าวว่า 'เราจะบอกทั้งโลกว่า #อิสราเอล เป็นอาชญากรสงคราม'"
ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นชายคนหนึ่งกำลังช่วยเด็ก 5 คนออกจากพื้นที่ที่อาคารถล่มลงมา
ภาพดังกล่าวถูกแชร์อย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์อย่างอินสตาแกรมที่นี่ และ นี่ ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2566
นอกจากนี้ สถานทูตจีนประจำประเทศฝรั่งเศสยังแชร์ภาพเดียวกันนี้ในบัญชีที่เป็นทางการใน X (เดิมชื่อทวิตเตอร์) ด้วย
การโจมตีของกลุ่มฮามาส นับว่าเป็นการโจมตีครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศอิสราเอล โดยคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 1,400 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเมืองและเด็ก ทางการอิสราเอลระบุ ต่อมา อิสราเอลได้ตอบโต้ด้วยการประกาศสงครามและทิ้งระเบิดลงในฉนวนกาซา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขของกลุ่มฮามาสรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 9,000 ราย
"ฉนวนกาซากลายเป็นสุสานสำหรับเด็กหลายพันคน" เจมส์ เอลเดอร์ โฆษกขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) กล่าว
องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า การโจมตีด้วยอาวุธไม่ใช่อันตรายเพียงอย่างเดียว แต่การขาดแคลนน้ำสะอาดและไฟฟ้านั้นก็ส่งผลอันตรายต่อเด็กกว่าหนึ่งล้านคนในฉนวนกาซาเช่นกัน โดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่ต้องพึ่งพาตู้อบ
ภาพของความเสียหายได้จุดชนวนให้ประชาชนในต่างประเทศรู้สึกโกรธแค้น ตามมาด้วยการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกเพื่อเรียกร้องให้มีการหยุดยิง
ช่างภาพของ AFP และช่างภาพของสื่ออื่นๆ ในฉนวนกาซาได้ถ่ายภาพประชาชนจำนวนมากที่พยายามช่วยเหลือเด็กที่รู้สึกหวาดกลัวและได้รับบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ภาพที่เผยแพร่ทางออนไลน์นี้ถูกปรับแต่งทางดิจิทัล และมีแนวโน้มว่าจะถูกสร้างขึ้นโดยปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)
ลักษณะมือและเท้าผิดเพี้ยน
"แทบจะสรุปได้แน่นอนว่าภาพนี้ถูกสร้างโดยปัญญาประดิษฐ์" ฮานี ฟาริด ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชดิจิทัล ข้อมูลเท็จ และการวิเคราะห์ภาพ กล่าวกับ AFP
"เครื่องมือของเราได้จัดประเภทภาพนี้ว่าถูกสร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ เรายังพบเบาะแสในภาพ เช่น ลักษณะแขนของผู้ใหญ่ที่ผิดรูป” ฮานีกล่าว
ซีเหว่ย ลิว ผู้อำนวยการของห้องทดลองสื่อนิติวิทยาศาสตร์ (Media Forensic Lab) แห่งมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล กล่าวว่า ภาพดังกล่าวถูกจัดอยู่ในประเภท "ปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาขึ้นด้วยอัลกอริธึมแบบตรวจจับชิ้นล่าสุด"
ซีเหว่ยได้เน้นย้ำถึงลักษณะที่ผิดปกติของมือและเท้าในภาพด้านล่าง
คิมเบอร์ลี่ โทน มาย นักศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ซึ่งวิจัยด้านการเรียนรู้ของเครื่องจักร (machine learning) เห็นด้วยกับผู้เชี่ยวชาญสองคนก่อนหน้า
"ลักษณะแขนขาและเสื้อผ้าในภาพนั้นดูไม่สอดคล้องกัน เช่น เด็กที่อยู่ตรงไหล่ขวาของผู้ชายนั้นสวมเสื้อที่ดูกลมกลืนกับแขนเสื้อของผู้ชาย แขนของผู้ชายอยู่ในตำแหน่งที่ควรจะเป็นขาของเด็ก ส่วนตรงเท้าเปล่าของเด็กนั้นก็ไม่สามารถมองเห็นจำนวนนิ้วเท้าได้อย่างชัดเจน" คิมเบอร์ลี่กล่าวเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม
เรนี ดิเรสตา ผู้จัดการฝ่ายวิจัยที่หอดูดาวสแตนฟอร์ด ก็เห็นด้วยเช่นกัน โดยเธอกล่าวถึงลักษณะของมือบุคคลในภาพและ "วิธีที่ภาพร่างกายของคนผสมปนเข้ากับสภาพแวดล้อม และลักษณะอื่นๆ ที่ไม่ชัดเจน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากหลัง)"
จากการค้นหาภาพแบบย้อนหลังในเครื่องมือค้นหาข้อมูลต่างๆ AFP ไม่พบผลลัพธ์ใดๆ ที่ตรงกันกับภาพจากสำนักข่าวที่รายงานสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส สามารถอ่านรายงานของเราได้ที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา