วิดีโอนี้แสดงภาพวัยรุ่นนอนอยู่ในโรงพยาบาล ไม่ใช่ภาพ 'นักแสดง' แกล้งบาดเจ็บในฉนวนกาซา
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2023 เวลา 05:24
- อัพเดตแล้ว วันที่ 29 พฤศจิกายน 2023 เวลา 08:57
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
- เขียนโดย: Nahiara S. ALONSO, AFP สหรัฐอเมริกา, AFP แคนาดา, AFP ประเทศไทย
- แปลและดัดแปลง โดย Chayanit ITTHIPONGMAETEE
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำบรรยายโพสต์เท็จที่เผยแพร่บนเอ็กซ์ (เดิมคือทวิตเตอร์) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ระบุว่า "นักรบคนดังในโลกโซเชียล สร้างภาพไปวันๆ ขอความสงสารจากชาวโลกให้ช่วยเหลือปาเลสไตน์ ที่แท้เบื้องหลังตัวเอง เป็นสมาชิกในกลุ่มฮามาส #อิสราเอล #อิสราเอลปาเลสไตน์ #อิสราเอลฮามาส"
โพสต์ดังกล่าวได้รำคลิปวิดีโอสองคลิปนี้มาตัดต่อรวมกัน
วิดีโอหนึ่งเป็นภาพชายคนหนึ่งเดินผ่านซากปรักหักพังในฉนวนกาซา โดยพูดถึงผลกระทบของการโจมตีของอิสราเอล ซึ่งทำให้ประชาชนหลายพันคนได้รับบาดเจ็บ ขณะที่อีกวิดีโอแสดงชายคนหนึ่งได้รับการปลอบโยนขณะนอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล พร้อมเครื่องตรวจจับชีพจร
คลิปวิดีโอดังกล่าวถูกนำเสนอว่าเป็นภาพชายคนเดียวกัน และโพสต์ต่างๆ ระบุว่าการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อของเขาพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาแกล้งทำเป็นได้รับบาดเจ็บและสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับสงครามอิสราเอล-ฮามาส
สงครามในภูมิภาคนี้ดุเดือดขึ้นหลังการโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,400 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ตามการระบุของเจ้าหน้าที่ในอิสราเอล
ตั้งแต่การโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 อิสราเอลได้โจมตีฉนวนกาซาด้วยการโจมตีทางอากาศและทางบก พร้อมส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้ามาซึ่งสามารถตัดฉนวนกาซาออกเป็นสองส่วน โดยมีทั้งทหารและรถถังกระชับการปิดล้อมเมืองกาซา จากข้อมูล ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน กระทรวงสาธารณสุขของกลุ่มฮามาสระบุว่า มีผู้เสียชีวิตในดินแดนปาเลสไตน์แล้วมากกว่า 10,300 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก
การปิดล้อมฉนวนกาซาทำให้เกิดภาวะขาดแคลนเวชภัณฑ์ ขณะที่ผู้คนได้ขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนสำหรับการบาดเจ็บจากการโจมตีทางอากาศ
แม้จะมีเสียงเรียกร้องมากขึ้นเรื่อยๆ ให้หยุดยิง แต่นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู แสดงให้เห็นชัดเจนว่าจะไม่มีการหยุดยิงจนกว่ากลุ่มฮามาสจะปล่อยตัวประกัน 240 คนที่ถูกจับในการโจมตี
การกล่าวอ้างว่าวิดีโอในโรงพยาบาลจัดทำโดยชายคนเดียวกัน เกิดขึ้นท่ามกลางการให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับความขัดแย้ง ซึ่งรวมถึงโพสต์เท็จอื่นๆ ที่อ้างว่าแสดงหลักฐานของการมี "นักแสดง" (crisis actors) ที่แกล้งบาดเจ็บ ข้อมูลเท็จนี้ทำให้เกิดกระแสความสนใจ จนนำมาซึ่งการแชร์ข้อมูลเท็จทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาสเปน แม้แต่บัญชีเอ็กซ์อย่างเป็นทางการของรัฐบาลอิสราเอลก็ยังแชร์คลิปเท็จ ก่อนที่จะลบโพสต์ดังกล่าวภายหลัง
หนังสือพิมพ์โตรอนโตซันของแคนาดาเผยแพร่บทความเกี่ยวกับการกล่าวอ้างโดยอ้างอิงโพสต์ที่มีวิดีโอของชายหนุ่มในโรงพยาบาล ก่อนที่จะอัปเดตบทความเพื่อลบสิ่งที่บันทึกของบรรณาธิการระบุว่าเป็น "ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง" ในภายหลัง (ลิงค์บันทึก)
คำเตือนเกี่ยวกับเนื้อหา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบุคคลในวิดีโอจะดูคล้ายกัน ด้วยรูปร่างเพรียว ผมสั้นสีเข้ม และมีเครา แต่พวกเขาไม่ใช่คนเดียวกัน
ไม่ใช่คนเดียวกัน
ในบางวิดีโอที่แสดงให้เห็นชายหนุ่มคนหนึ่งเดินผ่านซากปรักหักพังในฉนวนกาซา มีข้อความซ้อนทับชื่อ ซาเลห์ อัลจาฟาราวี การค้นหาชื่อบนกูเกิล นำไปสู่บัญชีอินสตาแกรมของชายคนหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าเป็น "ผู้สร้างวิดีโอ" และนักร้องในฉนวนกาซา
โพสต์ในบัญชีที่เขาเดินอยู่บนถนนในฉนวนกาซา พร้อมกล่าวตามคัมภีร์อัลกุรอาน หรือพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ในดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งตรงกับวิดีโอบางส่วนที่แชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับฉากปลอม
ในโปรไฟล์ YouTube ของเขา เขาเขียนชื่อของเขาว่า "Al-Jaafrawi" และแนะนำตัวเองในฐานะชาวปาเลสไตน์วัย 25 ปีในฉนวนกาซา AFP ได้พยายามติดต่อเขา แต่ไม่ได้รับคำตอบ (ลิงค์บันทึก)
การค้นหาบัญชีของเขาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่พบสิ่งพิมพ์ใดๆ ที่แสดงว่าเขาได้รับบาดเจ็บบนเตียงในโรงพยาบาล
วัยรุ่นได้รับบาดเจ็บในเขตเวสต์แบงก์
การค้นหาภาพย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมจากวิดีโอที่แสดงภาพผู้ป่วยในโรงพยาบาล พบคลิปวิดีโอบัญชีติ๊กตอกของผู้ใช้ชื่อ "@hamodahmdan1" ซึ่งแชร์คลิปเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2023 พร้อมแฮชแท็ก "Nour_Shams_Camp" เป็นภาษาอาหรับ (ลิงค์บันทึก)
Nur Shams เป็นค่ายผู้ลี้ภัยในเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งเป็นดินแดนปาเลสไตน์แห่งเดียวนอกเหนือจากฉนวนกาซา เขตเวสต์แบงก์ถูกอิสราเอลยึดครองนับตั้งแต่สงครามหกวันในปี 2510 อีกทั้งกองกำลังของอิสราเอลมักบุกโจมตีพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของชาวปาเลสไตน์บ่อยครั้ง (ลิงค์บันทึก)
การค้นหาคำสำคัญ ด้วยคำว่า "ค่าย Nour Shams" และ "การโจมตี" จำกัด เฉพาะวันที่เผยแพร่วิดีโอบนติ๊กตอกเผยให้เห็นบทความวันที่ 25 สิงหาคม (ลิงค์บันทึก) โดยองค์กร International Solidarity Movement (ISM) โดยมีหัวข้อว่า "เด็กชาวปาเลสไตน์สูญเสียขาหลังผู้ยึดครองอิสราเอลบุกค่ายนูร์ชามส์”
บทความดังกล่าวระบุว่า โมฮัมเหม็ด เซนดิก วัย 16 ปี ได้รับบาดเจ็บจากทหารอิสราเอลเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม โดยมีรูปถ่ายของชายหนุ่มคนเดียวกันที่เห็นในวิดีโอของโรงพยาบาล สื่อท้องถิ่นยังรายงานเกี่ยวกับการจู่โจมครั้งนี้ด้วย
“สมาชิก ISM สามคนได้พบกับโมฮัมเหม็ด และสามารถยืนยันได้ว่าเขาเป็นใคร และเขาได้รับบาดเจ็บที่ขา” ISM กล่าวกับ AFP ในอีเมลเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566
คำเตือนเกี่ยวกับเนื้อหา
นอกจากนี้การค้นหายังพบคลิปโพสต์ของ Younis Tirawi นักข่าวชาวปาเลสไตน์ ที่พูดถึงความสับสนที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับชาวปาเลสไตน์ที่ได้รับบาดเจ็บและบล็อกเกอร์จากฉนวนกาซา ซึ่งรวมถึงลิงก์โปรไฟล์ติ๊กตอกของเซนดิก (ลิงค์บันทึก)
วัยรุ่นจากเวสต์แบงก์รายนี้โพสต์วิดีโอเกี่ยวกับการรักษาตัวของเขาบนแพลตฟอร์ม โดยมีคลิปของเขาอยู่บนรถเข็นในเดือนกันยายน และในการพักฟื้นในเดือนตุลาคม นอกจากนี้เขายังรีโพสต์การตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งหักล้างคำกล่าวอ้างว่าเขาและอัล-จาฟราวีเป็นบุคคลคนเดียวกัน (ลิงค์บันทึกที่นี่ นี่ และนี่)
เซนดิกยืนยันกับ AFP ผ่านทางข้อความในติ๊กตอกว่าข้อมูลที่เผยแพร่โดย ISM เป็ยข้อมูลที่ถูกต้อง เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม โดยเขายืนยันว่าเขาและอัล-จาฟราวีไม่ใช่คนคนเดียวกัน
'นักแสดง'
คำกล่าวอ้างดังกล่าวถูกหักล้างโดยทีมตรวจสอบข้อเท็จจริงภาษาสเปนของ AFP นอกจากนี้ ยังมี Euronews และนักข่าวจาก British Broadcasting Corporation ที่ตรวจสอบคำกล่าวอ้างดังกล่าวด้วย
คำกล่าวอ้างนี้นับว่าเป็นโพสต์ล่าสุดที่ระบุว่า "นักแสดง" จงใจสร้างสถานการณ์เพื่อทำให้ความสูญเสียจากสงครามดูรุนแรงกว่าความเป็นจริง
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของโพสต์ที่อ้างว่าแสดงศพปลอมที่เคลื่อนไหวได้ AFP ยังตรวจสอบโพสต์ที่นำภาพถ่ายของเด็กไทยในชุดฮัลโลวีนปี 2565 พร้อมคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับการสร้างสถานการณ์
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส สามารถอ่านรายงานของเราได้ที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา