นี่ไม่ใช่วิดีโอที่แสดงภาพ “ศพปลอมในกาซา” แต่เป็นหลักสูตรเตรียมงานศพในมาเลเซีย
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2023 เวลา 06:53
- อัพเดตแล้ว วันที่ 8 ธันวาคม 2023 เวลา 04:32
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Pierre MOUTOT, AFP ฝรั่งเศส
- แปลและดัดแปลง โดย Panisa AEMOCHA
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
โพสต์หนึ่งแชร์ในภาษาไทยบนเอ็กซ์ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พร้อมคำบรรยายคลิปว่า: "ปาเลสไตน์ก็ยังทำคลิปออกมาตุ๋นชาวโลกอย่างสม่ำเสมอ #อิสราเอล#ฮามาส"
วิดีโอความยาว 18 วินาที แสดงให้เห็นร่างของคนจำนวนหนึ่งนอนอยู่บนพื้นเสื่อ ในตึกขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ร่างของพวกเขาถูกห่อด้วยผ้าขาว ก่อนที่วิดีโอจะตัดไปที่หน้าของชายคนหนึ่งที่กำลังลืมตาขึ้นและมองที่ตากล้องผู้กำลังบันทึกวิดีโอ
วิดีโอดังกล่าวยังถูกแชร์ในภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และ สเปน บนสื่อสังคมออนไลน์หลายแพลตฟอร์มทั้งเอ็กซ์ ติ๊กตอก อินสตาแกรม และ เฟซบุ๊ก
วิดีโอดังกล่าวมักถูกแชร์พร้อมข้อความภาษาเปอร์เซีย ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า: "ฉันไม่รู้ว่ากระสุนของอิสราเอลมีปัญหาอะไร แต่มันเหมือนกับว่าพวกเขากลับมามีชีวิตกันทีละคน"
สงครามในกาซารอบล่าสุดนี้ ปะทุขึ้นภายหลังการโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,400 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ตามการระบุของเจ้าหน้าที่ในอิสราเอล
อิสราเอลตอบโต้ด้วยการตัดเส้นทางขนส่งอาหาร น้ำ และเชื้อเพลิงต่อดินแดนปาเลสไตน์ พร้อมโจมตีทางบกและอากาศ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 14,100 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และจากตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขของกลุ่มฮามาส ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน มีเด็กเสียชีวิตกว่า 6,000
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ที่จริงแล้ว วิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นหลักสูตรเตรียมงานศพของชาวมุสลิมในประเทศมาเลเซีย
หลักสูตรเตรียมงานศพของชาวมุสลิมในมาเลเซีย
การค้นหาภาพย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมจากคลิปวิดีโอดังกล่าวพบวิดีโอต้นฉบับ ซึ่งถูกเผยแพร่อยู่บนบัญชีติ๊กตอกที่ชื่อว่า @metjetak17 (ลิงค์บันทึก)
วิดีโอต้นฉบับเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนกลุ่มฮามาสจะบุกโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม
บัญชีติ๊กตอกเดียวกันได้เผยแพร่อีกคลิปวิดีโอหนึ่งในวันถัดมา ซึ่งแสดงสถานที่เดียวกัน โดยสามารถสังเกตจากรายละเอียดของห้องว่าเป็นสถานที่เดียวกัน ทั้งหน้าต่างและลวดลายบนฝาผนัง และยังมีคนที่นอนอยู่บนพื้น และถูกห่อด้วยผ้าห่อศพในลักษณะเดียวกันอีกด้วย
นอกจากนี้ ในทั้งสองคลิปวิดีโอยังสามารถสังเกตเห็นผู้ชายที่ใส่เสื้อสีชมพูคนเดียวกัน
คำบรรยายใต้คลิปที่สองให้รายละเอียดเพิ่มเติม โดยคุณสามารถอ่านข้อความในภาษามาเลย์ซึ่งอยู่ในวิดีโอ ที่แปลเป็นไทยได้ว่า: "หลักสูตรการจัดการงานศพ"
การเผยแพร่ครั้งนี้ระบุตำแน่งไว้ที่ Kemahiran Mara Institute ณ เมืองเปอกัน ประเทศมาเลเซีย
การค้นหาโดยภาพถ่ายจากดาวเทียมบนกูเกิลเอิร์ธ สามารถระบุตำแหน่งสถาบันดังกล่าวได้ว่าอยู่ที่มีมัสยิดตั้งอยู่ได้
บัญชียูทูปของสถาบันดังกล่าวแสดงให้เห็นการตกแต่งทั้งด้านนอกและด้านในของมัสยิด ซึ่งยืนยันว่าวิดีโอการประชุมเชิงปฏิบัติด้านการเตรียมงานศพดังกล่าวถูกบันทึกขึ้นในมัสยิดนั้นจริง (ลิงค์บันทึกที่นี่ และ นี่)
การค้นหาด้วยคำสำคัญบนกูเกิล พบเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดหลักสูตรเตรียมงานศพ ครั้งก่อนๆ ที่จัดโดย IKM Tan Sri Yahaya institute ในเมืองเปอกัน
ตัวแทนจากสถาบันฯ ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นภาพจากสถาบันจริง โดยเป็นหลักสูตรจัดเตรียมงานศพที่จัดขึ้น "ปีละสองครั้ง" ในพื้นที่ของสถาบันฯ
AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาส สามารถอ่านรายงานของเราได้ที่นี่
8 ธันวาคม 2566 ก่อนหน้านี้ บทความระบุว่าวิดีโอมักถูกแชร์พร้อมข้อความในภาษาอาหรับ ที่จริงแล้ว วิดีโอมักถูกแชร์พร้อมข้อความในภาษาเปอร์เซีย
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา