วิดีโอการฝึกซ้อมของทหารเกาหลีใต้ในปี 2562 ถูกนำมาแชร์อย่างผิดๆ ว่าเป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาส

สื่อสังคมออนไลน์ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับสงครามอิสราเอลและฮามาส นับตั้งแต่การโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่คร่าชีวิตประชาชนไปนับหลายพันคนจากทั้งสองคู่ขัดแย้ง เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้งานติ๊กตอกได้แชร์วิดีโอฉบับหนึ่งที่แสดงให้เห็นกลุ่มคนในชุดทหารบุกเข้าไปในรถบัส พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นวิดีโอของนักรบฮามาส แต่ในความเป็นจริงแล้ว วิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นการฝึกซ้อมต่อต้านการก่อการร้ายในประเทศเกาหลีใต้ในปี 2562 และไม่มีความเกี่ยวข้องกับสงครามอิสราเอล-ฮามาสแต่อย่างใด

"คนไทยต้องเสียไปอีกกี่คน ไอ้พวกฮามาส," ข้อความในวิดีโอติ๊กตอกระบุเป็นภาษาไทยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566

หลังกลุ่มติดอาวุธฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลจากฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 พวกเขาได้คร่าชีวิตผู้คนไปราว 1,200 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเมือง นอกจากนี้ พวกเขายังจับตัวประกันราว 240 คน ซึ่งรวมถึงชาวไทยอย่างน้อย 32 คน ทางการของอิสราเอลระบุ

อิสราเอลให้คำมั่นว่าจะทำลายกลุ่มฮามาส โดยการปฏิบัติการทางอากาศและภาคพื้นดินได้ถล่มฉนวนกาซาและสังหารผู้คนไปแล้วกว่า 16,200 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการโดยกลุ่มฮามาส

ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน อิสราเอลและฮามาสได้ยุติการสู้รบเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ และส่งผลให้มีการปล่อยตัวตัวประกันจำนวนมากเพื่อแลกกับนักโทษชาวปาเลสไตน์

วิดีโอติ๊กตอกที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จยังระบุต่อในข้อความภาษาไทยว่า "ยิงเค้าก่อน แล้วมาขอสงบศึกมันคงไม่ง่าย … อิสราเอล&ฮามาส แล้วมาทำสงครามก่อนทำไม รุ้ถ้าเอาชนะไม่ได้"

วิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นกลุ่มคนในชุดทหารกระโดดขึ้นไปบนรถบัสผ่านหน้าต่างที่บานกระจกถูกทำลาย ก่อนที่ผู้ไม่มีอาวุธจะโผล่ออกมาพร้อมเอามือพาดไว้ตรงศีรษะ

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

วิดีโอคล้ายๆ กันนี้ยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสที่นี่ นี่ และ นี่ โดยผู้ใช้งานติ๊กตอกจำนวนมากแสดงความคิดเห็นว่าพวกเขาเชื่อว่าวิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นนักรบฮามาสจริง

"ผู้ก่อการร้าย" คอมเมนท์หนึ่งระบุ

"เอาใจช่วยอิสราเอล ขอให้ทุกคนและคนไทยกลับบ้านอย่างปลอดภัย" อีกคอมเมนท์หนึ่งระบุ

South Korea counterterror drill

การฝึกซ้อมต่อต้านการก่อการร้ายของเกาหลีใต้

วิดีโอในโพสต์เท็จเผยให้เห็นข้อความภาษาเกาหลีตรงรถบัส ซึ่งแปลได้ว่า "โลก" "กวางจู" และ "ว่ายน้ำ"

หลังค้นหาภาพแบบย้อนหลังด้วยการใช้คีย์เฟรมในกูเกิล AFP พบวิดีโอที่คล้ายกันในยูทูป ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 โดยสถานีโทรทัศน์ KTV ในประเทศเกาหลีใต้ (ลิงก์บันทึก)

ชื่อของวิดีโอเขียนเป็นภาษาเกาหลีว่า "นายกรัฐมนตรีลี นักยอน เข้าร่วมการฝึกซ้อมต่อต้านการก่อการร้ายที่การแข่งขันว่ายน้ำชิงแชมป์โลกในเมืองกวางจู"

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอของ KTV (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายตรงองค์ประกอบที่คล้ายกัน:

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอของ KTV (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายตรงองค์ประกอบที่คล้ายกัน

คำอธิบายในวิดีโอระบุว่า "เมืองกวางจูจัดการฝึกซ้อมต่อต้านการก่อการร้าย ณ ยิมเนเซียมยอมจู เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2562 เพื่อสร้างความมั่นใจในระบบรักษาความปลอดภัยระหว่างการแข่งขันกีฬาทางน้ำชิงแชมป์โลกกวางจู 2562 ที่กำลังจะมาถึง"

การแข่งขันกีฬาทางน้ำชิงแชมป์โลกปี 2562 จัดขึ้นในเมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม จนถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2562 (ลิงก์บันทึก)

KTV รายงานว่า วิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นกลุ่มภารกิจพิเศษที่ 707 ซึ่งเป็นหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายชั้นยอดของกองบัญชาการสวัสดิการพิเศษในเกาหลี ซึ่งหน่วยดังกล่าวถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2524 เพื่อได้รับมอบหมายให้รักษาความความปลอดภัยระหว่างการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ในปี 2529 และการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2531 (ลิงก์บันทึก)

AFP ได้ทำการค้นหาด้วยคำสำคัญในภาษาเกาหลีในกูเกิล และพบรายงานข่าวที่เกี่ยวกับการฝึกซ้อมดังกล่าวในเว็บไซต์ข่าวของเกาหลีใต้ เช่น โชซันอิลโบ และดองกาอิลโบ (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

สามารถอ่านรายงานของ AFP เกี่ยวกับคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา