นี่คือวิดีโอนักศึกษาฮาร์วาร์ดประท้วงการบรรยายของนักการทูตอิสราเอลในปี 2562 ไม่ใช่ปี 2566


สงครามระหว่างอิสราเอลและกองกำลังติดอาวุธฮามาสได้จุดชนวนให้เกิดการถกเถียงอย่างเข้มข้นตามสถาบันศึกษาต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา โดยนักศึกษา อาจารย์ และผู้บริหารหลายคนถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกต่อต้านชาวยิวและเกลียดกลัวอิสลาม อย่างไรก็ตาม วิดีโอที่นักศึกษาฮาร์วาร์ดประท้วงฉบับนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่เพิ่งเกิดขึ้นแต่อย่างใด ในความเป็นจริงแล้ว คลิปดังกล่าวแสดงให้เห็นนักศึกษาฮาร์วาร์ดประท้วงระหว่างการบรรยายของนักการทูตอิสราเอลคนหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2562

"นศ.กฎหมายที่ Harvard Law School เดินออกจากห้องบรรยายเกือบทั้งห้อง ในการบรรยายโดยกงศุลอิสราเอล" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กบัญชีหนึ่งเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 พร้อมทั้งแชร์วิดีโอฉบับหนึ่ง

คำบรรยายยังระบุต่อว่า "ขอแสดงความนับถือในความกล้าหาญของนศ.กลุ่มนี้ เพราะขณะนี้ที่ฮาร์วาร์ดมีกระแสกดดันนักนศ.ที่ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนชาวปาเลสไตน์อย่างหนัก"

วิดีโอในโพสต์ดังกล่าวแสดงให้เห็นนักศึกษาในห้องเรียนลุกขึ้นยืนและเดินออกจากห้องบรรยาย ในขณะที่ชายคนหนึ่งกำลังบรรยายอยู่ด้านหน้าห้อง

ข้อความที่ถูกฝังไว้ในวิดีโอระบุว่า "กลุ่มนักศึกษาของวิทยาลัยกฏหมายแห่งฮาร์วาร์ดเดินออกจากการบรรยายเรื่อง 'ยุทธศาสตร์ด้านกฎหมายในการตั้งถิ่นฐานของอิสราเอล' โดยดานี ดายาน กงสุลใหญ่ของอิสราเอลในนครนิวยอร์ก

นักศึกษาชูป้ายที่เขียนว่า "การตั้งถิ่นฐาน [ของอิสราเอล] คืออาชญากรรมสงคราม" ขณะที่พวกเขาเดินออกจากห้องจนกระทั่งห้องบรรยายนั้นเกือบว่างเปล่า

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างที่ขาดบริบท

วิดีโอและคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันนี้ยังปรากฏในช่องทางอื่นๆ เช่น เอ็กซ์ อินสตาแกรม และ ติ๊กตอก ในขณะที่ความขัดแย้งในฉนวนกาซายังคงดำเนินต่อไป โดยสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสครั้งนี้ทำให้ทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตร่วมหลายพันคน

สงครามดังกล่าวปะทุขึ้นหลังกลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลอย่างกระทันหันเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 โดยนักรบฮามาสบุกโจมตีพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอลจากฉนวนกาซาและสังหารผู้คนไปประมาณ 1,200 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และจับตัวประกันได้ประมาณ 240 คน จากข้อมูลล่าสุดของรัฐบาลอิสราเอล

อิสราเอลได้ปฏิบัติการตอบโตด้วยการทิ้งระเบิดและโจมตีภาคพื้นดินอย่างต่อเนื่องในฉนวนกาซา รัฐบาลที่ดำเนินการโดยกลุ่มฮามาสระบุว่า สงครามดังกล่าวได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 14,000 คน รวมถึงเด็กเกือบ 6,000 คน และผู้หญิงราว 4,000 คน

ความขัดแย้งในปัจจุบันยังจุดชนวนให้เกิดการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา โดยทำเนียบขาวระบุเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ว่าจะดำเนินการตอบโต้กระแสต่อต้านชาวยิวตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่เพิ่มมากขึ้นอย่าง "น่าตกใจ" ตั้งแต่สงครามอิสราเอล-ฮามาสครั้งล่าสุดปะทุขึ้น

แถลงการณ์ที่ลงนามโดยกลุ่มนักศึกษาฮาร์วาร์ดระบุว่าพวกเขา "เรีกยร้องให้รัฐบาลอิสราเอลแสดงความรับผิดชอบต่อความรุนแรงทั้งหมดที่เกิดขึ้น" ซึ่งจุดชนวนให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง

แม้ว่าวิดีโอที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์จะแสดงเหตุการณ์ที่นักศึกษาฮาร์วาร์ดประท้วงการบรรยายของเจ้าหน้าที่อิสราเอลจริง แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเกินขึ้นในปี 2562

ประท้วงการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอล

จากการค้นหาด้วยคำสำคัญในกูเกิล AFP พบวิดีโอฉบับที่ยาวกว่าถูกแชร์ในเฟซบุ๊กและยูทูปของสำนักข่าว Middle East Eye เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

เมื่อค้นหาด้วยสำคัญต่อไป AFP ยังพบวิดีโอเดียวกันนี้ถูกแชร์ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 เช่นเดียวกัน เช่น ในเฟซบุ๊กของคณะกรรมการสมานฉันท์ปาเลสไตน์ของวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเผยให้เห็นนักศึกษาเดินออกจากห้องบรรยายจากมุมที่ต่างออกไป ในขณะเดียวกัน องค์กรตรวจสอบสื่อ Middle East Monitor ก็ได้เผยแพร่วิดีโอเดียวกันนี้ในยูทูป (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

ดายานดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ของอิสราเอลประจำเมืองนิวยอร์กจนถึงปี 2563 ก่อนที่ในปี 2564 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานของยาด วาเชม ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในอิสราเอล (ลิงก์บันทึก)

จากข้อมูลของวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 รักษาการกงสุลใหญ่ของอิสราเอลประจำเมืองนิวยอร์กคือ อาวีฟ เอซรา (ลิงก์บันทึก)

จากการค้นหาในบัญชี X ของดายาน พบว่าเขาได้โพสต์เกี่ยวกับเหตุการณ์ประท้วงของนักศึกษาฮาร์วาร์ดที่นี่ และ นี่ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

“ตอนที่ผมเริ่มบรรยาย มีผู้ประท้วงประมาณ 100 คนเดินออกจากห้องไป พวกเขาชูกำปั้นเหนือศีรษะ และถือป้ายต่อต้านอิสราเอล แต่ก็มีนักศึกษานั่งอยู่อีกประมาณ 80-90 คนและการบรรยายก็เป็นไปอย่างยอดเยี่ยม รวมถึงช่วงถามตอบด้วย” ดายานเขียนในบัญชี X ของเขา

สามารถอ่านรายงานของ AFP เกี่ยวกับคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา