นี่คือภาพที่สร้างด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไม่ใช่ภาพรถยนต์ไฟฟ้าที่มิตซูบิชิเปิดตัวที่มหกรรมยานยนต์ที่เมืองทองธานี

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์แชร์รูปภาพรถยนต์ไฟฟ้าดีไซน์ล้ำสมัย โดยอ้างว่าบริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่มหกรรมยานยนต์ (Motor Expo) ในช่วงปลายปี 2566 อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บัญชีหนึ่งกล่าวกับ AFP ว่า ภาพดังกล่าวถูกสร้างขึ้นด้วยโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) นอกจากนี้ AFP ยังไม่พบรถยนต์ดังกล่าวปรากฏอยู่ในรายชื่อรถยนต์ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานดังกล่าว

"'มิตซูบิชิ' รูปลักษณ์ใหม่!! ช่วงนี้มีงาน #มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 40" หรือ "MOTOR EXPO 2023" ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 11 ธ.ค. 2566  ที่เมืองทองธานี" เพจเฟซบุ๊กชื่อ Thai Tribune เขียนคำบรรยายดังกล่าวในโพสต์ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566

โพสต์ดังกล่าวแชร์รูปภาพที่แสดงให้เห็นรถยนต์ทรงกลมสีพาสเทล และเห็นผู้คนในฉากหลัง

คำบรรยายยังระบุต่อว่า "#มิตซูบิชิ ออกแบบรถไฟฟ้าสองที่นั่ง รัศมีการมอง 360 องศา สีหวานพาสเทลเลยทีเดียว!"

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ราว 6,000 ครั้ง และได้รับการกดถูกใจกว่า 4,000 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์ภาพที่สร้างด้วยปัญญาประดิษฐ์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จ

ภาพเดียวกันนี้ยังถูกแชร์ต่อพร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันในเฟซบุ๊กที่นี่  นี่ และ นี่  ใน X ที่นี่ และในติ๊กตอกที่นี่

ในช่องแสดงความเห็นเผยให้เห็นว่าผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากเชื่อว่าภาพดังกล่าวเป็นรถของมิตซูบิชิจริง

"รถไฟฟ้าใช่ไหมคะ ราคาเท่าไหร่คะเนี่ยน่าสนค่ะ" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กบัญชีหนึ่งเขียนแสดงความคิดเห็น

"น่ารักมาก เอาไว้ขับไปซอยต่างๆใน กทม. น่าจะดี" ผู้ใช้งานฟซบุ๊กอีกบัญชีหนึ่งระบุ

อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และในงานมหกรรมยานยนต์ในปี 2566 ไม่ได้จัดแสดงรถยนต์รุ่นดังกล่าว

ภาพที่สร้างด้วยปัญญาประดิษฐ์

จากการค้นหาภาพแบบย้อนหลังในกูเกิล AFP พบบัญชี X บัญชีหนึ่งชื่อ @oyakatatumuri ซึ่งมักจะแชร์ภาพรถยนต์ดีไซน์ล้ำสมัยที่คล้ายๆ กัน เช่น โพสต์นี้และโพสต์นี้ (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

ผู้ใช้งาน X ดังกล่าวยืนยันกับ AFP ว่า เขาสร้างรูปภาพดังกล่าวด้วยโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์

"ฉันสร้างภาพเอไอนี้ด้วยโปรแกรม Image Creator" ผู้ใช้งาน X บัญชีดังกล่าวระบุกับ AFP เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567

อย่างไรก็ตาม เขาได้ลบโพสต์ที่แชร์ภาพดังกล่าว ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 

คำบรรยายภาษาญี่ปุ่นในโพสต์ต้นฉบับแปลเป็นภาษาไทยว่า "ถ้าคุณทำให้ล้อมันกลมกว่านี้ ยางรถยนต์ก็จะไม่งอ แต่ยางของมิตซูบิชิมักจะม้วนงอได้ง่าย"

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) กับรูปภาพที่ถูกสร้างด้วยปัญญาประดิษฐ์และแชร์ใน X (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) กับรูปภาพที่ถูกสร้างด้วยปัญญาประดิษฐ์และแชร์ใน X (ขวา)

ยี่ห้อที่สะกดผิด ลักษณะคนที่ผิดแปลก

AFP คาดว่าภาพดังกล่าวน่าจะถูกสร้างขึ้นด้วยปัญญาประดิษฐ์ ผ่านการสังเกตเบาะแสในภาพ เช่น การสะกดชื่อยี่ห้อรถยนต์ผิด ซึ่งเขียนว่า "Mitubishi" แทนที่จะเป็น "Mitsubishi"

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของภาพที่ปัญญาประดิษฐ์สร้างขึ้น โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายวงกลมเน้นส่วนที่สะกดชื่อยี่ห้อรถยนต์ผิดไว้:

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของภาพที่ปัญญาประดิษฐ์สร้างขึ้น โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายวงกลมเน้นส่วนที่สะกดชื่อยี่ห้อรถยนต์ผิดไว้

เบาะแสอื่นที่ชี้ว่าภาพดังกล่าวถูกสร้างด้วยปัญญาประดิษฐ์คือ ลักษณะที่แปลกประหลาดของคนในฉากหลัง ซึ่งรวมไปถึงรูปร่างไม่ปกติหรืออวัยวะบางส่วนที่หายไป

ด้านล่างคือตัวอย่างของเบาะแสในฉากหลัง ซึ่งแสดงให้เห็นคนที่ศีรษะหายไป และคนที่มีลักษณะขาที่ผิดปกติ โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายวงกลมเน้นลักษณะดังกล่าว:

Image
ตัวอย่างของเบาะแสในฉากหลัง ซึ่งแสดงให้เห็นคนที่ศีรษะหายไป และคนที่มีลักษณะขาผิดแปลก โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายวงกลมเน้นลักษณะดังกล่าว

ไม่มีรถรุ่นดังกล่าวในงานมหกรรมยานยนต์ปี 2566

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ได้เผยแพร่ภาพถ่ายรถยนต์ที่จัดแสดงในงานมหกรรมยานยนต์ปี 2566 ในเพจเฟซบุ๊กที่นี่ และในเว็บไซต์ที่นี่ และ นี่ แต่ไม่มีภาพใดที่ตรงกับรูปภาพที่สร้างด้วยปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกแชร์ในโพสต์เท็จ (ลิงก์บันทึกที่นี่  นี่ และ นี่)

ข่าวประชาสัมพันธ์จากมิตซูบิชิเกี่ยวกับรถยนต์ที่จัดแสดงในงานมหกรรมยานยนต์ปี 2566 ไม่ได้ระบุหรือแสดงภาพรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่มีลักษณะตรงกันกับรถยนต์ในภาพที่ปัญญาประดิษฐ์สร้างขึ้น (ลิงก์บันทึก)

AFP ได้ติดต่อมิตซูบิชิ มอเตอร์สเพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ ณ เวลาที่เผยแพร่รายงานฉบับนี้

เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของงานมหกรรมยานยนต์ได้เผยแพร่รูปถ่ายของ "รถไฟฟ้า EV เด่น" และ "รถใหม่เปิดตัว" ที่จัดแสดงในงานมหกรรมยานยนต์ในปี 2566 โดยรถยนต์ในภาพที่ปัญญาประดิษฐ์สร้างขึ้นนั้นไม่ปรากฏอยู่ในทั้งสองหมวดหมู่ (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวข้องกับภาพที่สร้างด้วยปัญญาประดิษฐ์ที่นี่  นี่ และ นี่ นอกจากนี้ AFP ยังได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับเคล็ดลับในการระบุภาพที่สร้างด้วยปัญญาประดิษฐ์ โดยสามารถอ่านได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา