
คลิปแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นปี 2554 จำนวนหลายคลิปถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นเหตุแผ่นดินไหวในปี 2567
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 15 มกราคม 2567 เวลา 05:42
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"แผ่นดินไหวญี่ปุ่น #แผ่นดินไหว #ญี่ปุ่น #7.6," ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กบัญชีหนึ่งเขียนคำบรรยายเป็นภาษาไทยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 พร้อมแชร์วิดีโอฉบับหนึ่ง โดยคำบรรยายได้ระบุ "7.6" ที่ชี้ถึงระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวในวันปีใหม่ จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น
วิดีโอฉบับดังกล่าวประกอบไปด้วยคลิปจำนวน 3 คลิป โดยคลิปแรกแสดงให้เห็นรถยนต์ที่สั่นสะเทือนอย่างรุนแรงภายนอกศูนย์บริการรถยนต์ ส่วนคลิปที่ 2 และ 3 แสดงให้เห็นบ้านเรือน และสถานที่ดำเนินงานก่อสร้างที่สั่นสะเทือนระหว่างเกิดแผ่นดินไหว

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันนี้ยังถูกแชร์โดยผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยผ่านช่องทางเฟซบุ๊กที่นี่ X ที่นี่ และติ๊กตอกที่นี่ และผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในฟิลิปปินส์ที่นี่ และ นี่
แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 และอาฟเตอร์ช็อกรุนแรงได้คร่าชีวิตผู้คนในจังหวัดอิชิกาวะไปอย่างน้อย 213 ราย ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเสียหาย และทำให้ผู้คนนับหลายพันไม่มีไฟฟ้าใช้ (ลิงก์บันทึก)
คลื่นสึนามิที่วัดความสูงไว้ได้ประมาณ 3 เมตรได้ซัดเข้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งหนึ่ง แต่ไม่ได้สร้างความเสียหาย
อย่างไรก็ตาม คลิปชุดนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้นในญี่ปุ่นเมื่อไม่นานมานี้ AFP ได้ตรวจสอบด้วยการค้นหาภาพย้อนหลังในกูเกิล และพบว่าคลิปเหล่านี้บันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวในทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม 2554
ภัยพิบัติปี 2554
คลิปที่ 1 และ 2 เผยให้เห็นศูนย์บริการรถยนต์ของฮอนด้าและอาคารบ้านเรือนที่สั่นสะเทือน โดยคลิปเหล่านี้ปรากฏในสารคดีของสถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่น สารคดีดังกล่าวมีชื่อเรื่องว่า "3/11 - สึนามิ: 3 วันแรก" โดยคลิปที่สอดคล้องกันนี้ปรากฏ ณ วินาทีที่ 03:58-04:10 ในสารคดี (ลิงก์บันทึก)
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของคลิปในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และสารคดีของ NHK (ขวา):


คลิปเหตุการณ์หน้าศูนย์ฮอนด้าเดียวกันนี้ยังถูกเผยแพร่ไว้ในยูทูปเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554 โดยคำบรรยายระบุว่า วิดีโอดังกล่าวถูกบันทึกไว้ได้ที่ที่ศูนย์บริการรถฮอนด้าในเมืองไยตะ จังหวัดโทจิงิ
AFP สามารถระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของสถานที่ดังกล่าวได้ ซึ่งคือที่ศูนย์บริการรถฮอนด้า สาขาเมืองไยตะ (ลิงก์บันทึก)
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปในโพสต์เท็จ (ซ้าย) กับภาพกูเกิลสตรีทวิวของศูนย์บริการรถฮอนด้าในเมืองไยตะ โดยเป็นภาพจากเดือนพฤษภาคม 2556 (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบที่คล้ายกัน:

AFP ยังพบคลิปที่ยาวกว่าคลิปในโพสต์เท็จ ซึ่งแสดงให้เห็นบ้านเรือนที่สั่นสะเทือนอย่างรุนแรง คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ไว้ในยูทูปเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2554 โดยวิดีโอดังกล่าวระบุว่า เป็นเหตุแผ่นดินไหวในเมืองอิวากิ จังหวัดฟุกุชิมะ (ลิงก์บันทึก)
คำอธิบายใต้วิดีโอระบุต่อว่า บ้านในวิดีโอนั้นเป็นบ้านของครอบครัวของเจ้าของบัญชียูทูป
ส่วนคลิปสุดท้ายที่แสดงให้เห็นสถานที่ดำเนินงานก่อสร้างนั้น AFP พบวิดีโอที่สอดคล้องกัน ซึ่งถูกเผยแพร่ในยูทูปเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2554 (ลิงก์บันทึก)
ชื่อวิดีโอระบุว่า สถานที่ดำเนินงานก่อสร้างแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดชิบะ ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวในเดือนมีนาคม ปี 2554 ในขณะที่คนงานกำลังสร้างหลังคาบ้านที่ทำจากไม้
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ในยูทูปในปี 2554 (ขวา):

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งล่าสุดในญี่ปุ่น โดยเผยแพร่เป็นรายงานภาษาไทยที่นี่ และ นี่ และภาษาอังกฤษที่นี่ นี่ และ นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา