โฆษณาบริจาคอวัยวะในประเทศจีนถูกแชร์อย่างขาดบริบทและสร้างความเข้าใจผิดว่าเป็นเหตุการณ์จริง
- เผยแพร่ วันที่ 29 มกราคม 2024 เวลา 10:25
- อัพเดตแล้ว วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2024 เวลา 05:25
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2567 ผู้ใช้งาน X บัญชีหนึ่งได้แชร์วิดีโอฉบับหนึ่งที่มีความยาวหนึ่งนาทีครึ่ง
คลิปดังกล่าวเผยให้เห็นหลายคนพยายามปลอบโยนเด็กทารกที่ร้องไห้ จนกระทั่งชายในเสื้อยืดสีดำปรากฏขึ้นและอุ้มเด็กคนดังกล่าว เมื่อเด็กได้ยินเสียงหัวใจของเขาจึงหยุดร้องไห้
"คลิปนี้ถ่ายเรื่องของ เด็กทารก ที่แม่เสียชีวิตขณะคลอดเด็กคนนี้ หัวใจของแม่ถูกนำไปบริจาคให้ชายเสื้อดำ" คำบรรยายวิดีโอระบุเป็นภาษาไทย
"ดูปฏิกิริยาของเด็กเมื่อชายเสื้อดำอุ้มเด็กเด็กจำเสียงหัวใจเต้นของแม่ได้" คำบรรยายเดียวกันเขียนต่อ
"คลิปนี้ถูกอัดที่สิงคโปร์และแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว นับเป็นคลิปอันหาค่ามิได้.."
คลิปดังกล่าวยังฝังข้อความที่คล้ายกับคำบรรยาย แต่ระบุวันที่ว่า "ในวันนี้ 1/10/2023" เพิ่มด้วย
วิดีโอและคำกล่าวอ้างเดียวกันนี้ยังถูกแชร์ในเฟซบุ๊กที่นี่ ซึ่งมียอดผู้ชมมากกว่าหนึ่งล้านครั้ง และติ๊กตอกที่นี่ นี่ และ นี่
ผู้ใช้งานสื่อสงัคมออนไลน์ได้เขียนแสดงความคิดเห็น ซึ่งชี้ว่าพวกเขาเชื่อว่าวิดีโอดังกล่าวแสดงเหตุการณ์ในชีวิตจริง
"รู้สึกสงสารน้องมากที่ไม่มีเห็นหน้าแม่ขนาดที่น้องเกิด สงสารแม่ที่ไม่ได้เลี้ยงดูลูก ขอให้ดวงวิญญาณแม่ไปสู่สุขคตินะคะ" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กบัญชีหนึ่งเขียนคำบรรยาย
"ความรักอันแสนวิเศษของแม่" ผู้ใช้อีกรายระบุ
คลิปโฆษณาบริจาคอวัยวะจากปี 2560
การค้นหาภาพย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมของวิดีโอในกูเกิลและการค้นหาด้วยคำสำคัญ และพบวิดีโอเดียวกันนี้ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ในเพจเฟซบุ๊กของสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CCTV) ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของประเทศจีน (ลิงก์บันทึก)
โพสต์เขียนคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “การบริจาคอวัยวะคือส่งมอบโอกาสให้ผู้อื่นมีชีวิตใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องน่าทึ่ง เด็กน้อยคนนี้หยุดร้องไห้เมื่อถูกอุ้มโดยชายที่รับบริจาคหัวใจจากแม่ของเธอเมื่อไม่กี่เดือนก่อน”
คำบรรยายเขียนต่อ โดยอ้างอิงถึงสถิติการบริจาคอวัยวะในประเทศจีนตั้งแต่ที่มีการริเริ่มโครงการวันบริจาคอวัยวะขึ้นตั้งแต่ปี 2553
ในช่วงท้ายของวิดีโอ AFP เห็นข้อความภาษาจีนกลาง ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า "ความรักทำให้หัวใจเต้น" "การบริจาคอวัยวะ" และ "ศูนย์บริหารจัดการโฆษณาของ CCTV"
ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในช่วงท้าย โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายวงกลมล้อมรอบข้อความภาษาจีนกลาง:
นอกจากนี้ AFP ยังพบว่าวิดีโอฉบับเดียวกันนี้ถูกโพสต์ไว้ในเว็บไซต์ของ CCTV เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2560 (ลิงก์บันทึก)
อู๋ ชิวปิน ผู้ทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ของคลิปโฆษณาดังกล่าว กล่าวกับ AFP ว่า เขาและทีมงานถ่ายทำโฆษณาชิ้นนี้ขึ้นในประเทศจีน ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดนั้นเป็น "เรื่องแต่ง"
การค้นหาด้วยคำสำคัญเพิ่มเติมในภาษาจีนกลางยังพบว่า คลิปโฆษณาดังกล่าวได้รับรางวัลในปี 2560 ณ เทศกาลชื่อ ROI Festival ซึ่งมอบรางวัลด้านความคิดสร้างสรรค์ให้กับพนักงานและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมธุรกิจ
วิดีโอเดียวกันนี้ยังถูกเผยแพร่ในยูทูปเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 โดยแปลชื่อเรื่องเป็นภาษาไทยได้ว่า "โฆษณาซึ้งๆ เกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะของประเทศจีน" (ลิงก์บันทึก)
ในช่องคำอธิบายระบุเอเจนซี่โฆษณาว่า "เอเจนซี่: เอฟไฟว์ เซี่ยงไฮ้ x ดีดีบี เซี่ยงไฮ้"
เว็บไซต์ดิจิตัลลิ่ง (Digitaling) ได้เขียนเกี่ยวกับวิดีโอดังกล่าวในเดือนมีนาคม ปี 2560 โดยกล่าวถึงวิดีโอดังกล่าวว่าเป็น "โฆษณาบริการสาธารณะระดับประเทศ" (ลิงก์บันทึก)
จากการค้นหาด้วยคำสำคัญจำนวนหลายคำ AFP ไม่พบรายงานใดๆ ในประเทศจีนที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในชีวิตจริงที่เด็กทารกจดจำเสียงหัวใจของแม่ที่ถูกปลูกถ่ายให้บุคคลอื่นได
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา