ภาพประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใส่ชุดทหารเป็นภาพที่สร้างด้วยปัญญาประดิษฐ์ ไม่ใช่ภาพจากเหตุการณ์จริง
- เผยแพร่ วัน 7 กุมภาพันธ์ 2024 เวลา 07:50
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Bill MCCARTHY, AFP สหรัฐอเมริกา
- แปลและดัดแปลง โดย Chayanit ITTHIPONGMAETEE
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
ภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ในโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 พร้อมคำบรรยายบางส่วนที่เขียนว่า: "'ไบเดน' ประชุมนายทหารด่วนพิเศษ... เตรียมสั่งถล่มแก้แค้นที่โดรนฝ่ายตรงกันข้ามโจมตีที่ตั้งสหรัฐในสหรัฐในจอร์แดน ทหารมะกันตาย 3 บาดเจ็บกว่า 40"
โพสต์ดังกล่าวเขียนบรรยายต่อว่า "นับเป็นครั้งแรกที่ทหารสหรัฐฯ ถูกสังหารจากการโจมตีในภูมิภาคนี้ หลังจากที่กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม จุดชนวนให้เกิดสงครามในฉนวนกาซา"
ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน สวมชุดทหารขณะนั่งประชุมกับเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ
โพสต์ดังกล่าวได้รับการกดถูกใจมากกว่า 2,200 ครั้งและถูกแชร์ 73 ครั้ง
บัญชีที่เผยแพร่ภาพดังกล่าวคือเพจส่วนตัวของพิธีกรข่าว สุทธิชัย หยุ่น ซึ่งมียอดผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคน
ภาพดังกล่าวยถูกเผยแพร่พร้อมคำกล่าวอ้างภาษาไทยที่นี่ และ นี่ และยังพบโพสต์คล้ายๆ กันนี้ในภาษาอื่นที่นี่ และ นี่
สหรัฐฯ ได้กล่าวว่าจะตอบโต้อย่าง "เด็ดขาด" หลังฐานทัพของสหรัฐฯ แห่งหนึ่งในจอร์แดนถูกโดรนโจมตีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2567 โดยกลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิต 3 นาย ซึ่งถือเป็นการเสียชีวิตของทหารอเมริกันครั้งแรกในภูมิภาคตะวันออกกลางนับตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสปะทุขึ้นในเดือนตุลาคม 2566 และสร้างความกังวลว่าความขัดแย้งกำลังจะทวีความรุนแรงขึ้น
ประเด็นดังกล่าวทำให้ไบเดนเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งเขาได้กล่าวเมื่อวันที่ 30 มกราคมว่า กองทัพสหรัฐฯ ตัดสินใจโจมตีตอบโต้ โดยไม่ได้อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ภาพที่แสดงให้เห็นไบเดนสวมชุดทหารนี้ ไม่ใช่ภาพจริง
"ภาพนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยปัญญาประดิษฐ์" ฮานี ฟาริด ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เบิร์กลีย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชดิจิทัล ข้อมูลเท็จและการวิเคราะห์รูปภาพ ให้สัมภาษณ์กับ AFP
ฟาริดกล่าวต่อว่า "มีเบาะแสจำนวนมากที่บ่งชี้ว่าภาพดังกล่าวถูกสร้างด้วยปัญญาประดิษฐ์ เช่น ของบนโต๊ะที่มีลักษณะผิดปกติ เส้นขนานตามแนวกระเบื้องเพดาน และส่วนของโต๊ะที่ไม่ได้มาบรรจบกันตามที่ควรจะเป็นในภาพถ่ายจริง"
ในภาพดังกล่าว นิ้วมือของไบเดนมีลักษณะที่ผิดปกติเช่นกัน เนื่องจากไบเดนถนัดขวา แต่ในภาพนั้นดูเหมือนว่าเขากำลังถืออะไรบางอย่างด้วยมือซ้าย
ในปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ยังไม่สามารถสร้างภาพที่เลียนแบบมือของมนุษย์ได้อย่างสม่ำเสมอในระดับที่สมจริง
เบาะแสอื่นๆ คือ ลักษณะศีรษะและใบหน้าที่บิดเบี้ยวของไบเดน รวมถึงหูของเขาที่ดูแตกต่างจากภาพถ่ายจริง
การค้นหาภาพแบบย้อนหลัง ไม่พบผลลัพธ์ใดๆ ที่สามารถระบุที่มาของภาพดังกล่าวได้ ซึ่งข้อนี้ถือเป็นอีกเบาะแสที่ชี้ว่า ภาพดังกล่าวน่าจะถูกสร้างขึ้น
จอห์น เลอเฟฟร์ นักธุรกิจและนักเขียนที่โพสต์ภาพไบเดนสวมชุดทหารในบัญชี X ของเขาได้ลบโพสต์ดังกล่าวในเวลาต่อมา พร้อมกล่าวว่าเขา "ทราบแล้วว่าภาพนั้นเป็นภาพปลอม"
AFP ได้ติดต่อทำเนียบขาวเพื่อขอความคิดเห็น แต่ไม่รับการคำตอบ
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวข้องกับภาพอื่นๆ ที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ เช่น ที่นี่นี่ และ นี่ รวมถึงภาพของประธานาธิบดีไบเดนด้วย
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา